Abstract:
ได้ทำการศึกษาคุณภาพน้ำในพื้นที่อ่าวชลบุรี ในช่วงเดือนเมษายน กรกฎาคม และพฤศจิกายน 2551 พบว่าค่าเฉลี่ยของอุณหภูมิ ความเค็ม ความเป็นกรด-ด่าง ออกซิเจนละลายน้ำ ตะกอนแขวนลอย ไนไตรท์และซิลิเกต มีความแตกต่างระหว่างช่วงเวลา ในขณะที่แอมโมเนีย ไนเตรท ฟอสเฟตและคลอโรฟิลล์-เอ ไม่มีความแตกต่างระหว่างช่วงเวลาอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยการเปลี่ยนแปลงของคุณภาพน้ำภายในอ่าวได้รับมีอิทธิพลหลักมาจากน้ำท่าจากแม่น้ำบางปะกง คุณภาพน้ำส่วนใหญ่มีค่าอยู่ในระดับที่เคยมีการรายงานไว้
ก่อนหน้านี้ในงานวิจัยอื่น ยกเว้นสารอาหารกลุ่มไนโตรเจนที่มีค่าค่อนข้างสูง จากการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างคลอโรฟิลล์-เอ และคุณภาพน้ำพบว่า คลอโรฟิลล์-เอ มีแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลงไปในทางเดียวกับปริมาณตะกอนแขวนลอย อาจเนื่องมาจากองค์ประกอบของตะกอนแขวนลอยส่วนหนึ่งเป็นอนุภาคของแพลงก์ตอน (planktonic particle material) นอกจากนี้ยังพบอีกว่า
ฟอสเฟตก็มีแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงไปในทางเดียวกับคลอโรฟิลล์-เอ ด้วยเช่นกัน อาจเป็นไปได้ว่าน้ำทะเลในบริเวณนี้มีปริมาณสารอาหารไนโตรเจนสูง ฟอสฟอรัสจึงมีแนวโน้มของการเป็นปัจจัยจำกัดทางด้านสารอาหารต่อการเจริญเติบโตของแพลงก์ตอนพืชส่วนปัจจัยเกี่ยวกับคุณภาพน้ำอื่น ๆ นั้นไม่แสดงแนวโน้มของความสัมพันธ์กับคลอโรฟิลล์-เอ