Abstract:
ทำการศึกษาชนิดของปูน้ำเค็มที่ท่าเทียบเรือประมงอ่างศิลาและแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี เพื่อใช้เป็นตัวอย่างอ้างอิงสำหรับงานศึกษาทางด้านอนุกรมวิธานของปูน้ำเค็มที่พบบริเวณชายฝั่งทะเลในเขตจังหวัดชลบุรี โดยเก็บตัวอย่างปูน้ำเค็มทุกเดือนจากท่าเทียบเรือ 2 แห่งในจังหวัดชลบุรี คือท่าเทียบเรือประมงอ่างศิลา และท่าเทียบเรือประมงแหลมฉบัง ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ 2547 ถึง มกราคม 2548 ตัวอย่างปูที่ได้มาจากเรือประมงอวนลากที่ลากที่ความลึกน้อยกว่า 100 เมตร ทำการถ่ายภาพสีของตัวอย่างปู จากนั้นดองตัวอย่างปูด้วยแอลกอฮอล์ 70% แล้วทำการจำแนกสปีชีส์ โดยอาศัยลักษณะเด่นที่สำคัญ ได้แก่ กระดองหรือคาราเปส (carapace) หนวดคู่ที่ 2 (antenna) ฐานหนวดคู่ที่ 2 (basal antennal joint) รยางค์ปากคู่ที่ 3 (3th maxiliped) ขาเดินคู่ที่ 1 หรือก้ามหนีบ (cheliped) ขาเดินคู่ที่ 5 (5th pereiopod) ส่วนท้อง (abdomen) และอวัยวะเพศผู้ (male gonopod) รวมทั้งลักษณะลวดลายและสีสันต่างๆ บนกระดอง ตามหลักเกณฑ์การจำแนกตามวิธีของ Sakai (1976) และ Aiyun and Siliang (1991) จากการศึกษา บริเวณท่าเทียบเรืออ่างศิลา พบปูทั้งสิน 9 ครอบครัว 19 สกุล 30 ชนิด และบริเวณท่าเทียบเรือแหลมฉบัง พบปูทั้งสิ้น 8 ครอบครัว 16 สกุล 22 ชนิด รวมชนิดของปูน้ำเค็มที่พบที่ท่าเทียบเรือประมงทั้งสองแห่งของจังหวัดชลบุรีทั้งสิ้น 9 ครอบครัว 20 สกลุ 34 ชนิด