Abstract:
งานวิจัยนี้มุ่งศึกษาและวิเคราะห์วรรณกรรมกลอนสวดเรื่อง นางมโนห์รา ฉบับจังหวัดจันทบุรี เนื้อหางานวิจัยแบ่งเป็น 5 บท บทที่ 1 บทนำ กล่าวถึงความสำคัญของปัญหาและความมุ่งหมาย บทที่ 2 ภูมิหลังต้นฉบับเรื่องมโนห์รา บทที่ 3 ศึกษาวิเคราะห์เรื่อง มโนห์ราเชิงวรรณกรรม บทที่ 4 ศึกษาวิเคราะห์เรื่องมโนห์ราเชิงสังคม บทที่ 5 สรุปและข้อเสนอแนะ ผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่าต้นฉบับลายมือเรื่องมโนห์ราบันทึกเป็นอักษรไทย ภาษาไทย สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น รูปแบบอักษร อักขรวิธีแตกต่างจากปัจจุบัน วิธีการเขียนคำส่วนใหญ่เขียนตามการออกเสียง มีการใช้เครื่องหมายแทนสระ และเครื่องหมายประกอบการเขียน กลวิธีสการประพันธ์ใช้คำประพันธ์ประเภทกาพย์ การใช้กวีโวหาร และมีการใช้วิธีการเขียนที่เป็นลักษณะเฉพาะของผู้แต่งด้วย รูปแบบการแต่งเป็นไปตามรูปแบบของวรรณกรรมและนิทานชาดก กลวิธีการสร้างเรื่องทั้งโครงเรื่อง เนื้อเรื่อง ฉาก ลักษณะนิสัย พฤติกรรมของตัวละครเกี่ยวโยงสัมพันธ์กัน และแสดงถึงสารัตถะสำคัญของเรื่องอย่างชัดเจน คือ ความรัก สารัตถะรอง คือ การพลัดพราก และการผจญภัย แนวเรื่องเป็นแบบวรรณคดีไทยโบราณ โดยเฉพาะแนวการพลัดพราก คือการพลัดพรากระหว่างพระเอกกับนางเอก ตัวละครในเรื่องมีทั้งมนุษย์และอมนุษย์ บทบาทของตัวละครกำหนดประเภทของตัวละครอย่างชัดเจน คือ ตัวละครเอก ตัวละครประกอบ ตัวละครฝ่ายดี ตัวละครฝ่ายร้าย ด้านการศึกษาวิเคราะห์ในเชิงสังคมปรากฎความเชื่อของสังคมไทย มีทั้งความเชื่อทางพุทธศาสนา ไสยศาสตร์ โหราศาสตร์ ด้านค่านิยมของสังคมไทยมีทั้งค่านิยมในอดีต และค่านิยมที่ยังประพฤติปฏิบัติอยู่ในปัจจุบัน ด้านวัฒนธรรม ประเพณีไทย ปรากฎประเพณี วัฒนธรรมไทย ด้านต่าง ๆ สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตของคนไทย และบ่งบอกถึงความเป็นไทยอย่างเด่นชัด