Abstract:
โรคหัวใจและหลอดเลือด (CVDs) เป็นกลุ่มโรคที่เกิดความผิดปกติของหัวใจและหลอดเลือด กระบวนการเกิดพยาธิสภาพของโรค CVDs เกี่ยวข้องกับ endothelial dysfunction ที่เป็นผลให้มีชีวปริมาณของไนตริกออกไซด์น้อยลง ในปัจจุบันพบว่าส่วนสกัดจากพืชหลายชนิดสามารถป้องกันและรักษาโรค CVDs ได้โดยการกระตุ้นเอนไซม์เอนโดทีเลียลไนตริกออกไซด์ซินเทส (eNOS) มีการรายงานก่อนหน้านี้พบว่าส่วนสกัดจากเหง้าเร่วหอมสามารถเพิ่มปริมาณไนไตรท์ในเซลล์แมคโครฟาจ RAW 264.7 ดังนั้นเราจึงตั้งสมมติฐานว่าส่วนสกัดจากเหง้าเร่วหอมอาจจะมีผลต่อการผลิตไนตริกออกไซด์ในเซลล์เยื่อบุหลอดเลือดของมนุษย์ วัตถุประสงค์ของการศึกษาในครั้งนี้ คือ ตรวจสอบผลของส่วนสกัดจากเหง้าเร่วหอมต่อการผลิต ไนตริกออกไซด์ที่เกิดจากเอนไซม์ eNOS และยังทำการตรวจสอบกลไกในการกระตุ้นการผลิตไนตริกออกไซด์ด้วย ในการศึกษาทำการเตรียมส่วนสกัดเอทานอลของเหง้าเร่วหอม (EPE) และส่วนสกัดน้ำที่ใช้อัตราส่วนของเร่วหอมและน้ำเท่ากับ 1:10, 1:20 และ 1:30 ตามลำดับ (EPW1 EPW2 และ EPW3) ทำการประเมินความเป็นพิษของส่วนสกัดและผลต่อการผลิตไนตริกออกไซด์โดยวิธี MTT และปฏิกิริยา Griess ตามลำดับ ส่วนสกัดน้ำทั้งหมดไม่แสดงความเป็นพิษต่อเซลล์ แต่ส่วนสกัด EPE ที่ความเข้มข้น 100 และ 200μg/ml ลดจำนวนเซลล์มีชีวิตลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ปริมาณไนไตรท์ในอาหารเลี้ยงเซลล์ที่สัมผัสกับส่วนสกัดทั้งหมดเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในลักษณะที่ขึ้นกับความเข้มข้นของส่วนสกัด ส่วนสกัดน้ำของเร่วหอมไม่สามารถกระตุ้นการแสดงออกของเอนไซม์ eNOS แต่ส่วนสกัดเอทานอล EPE สามารถเพิ่มการแสดงออกของเอนไซม์ eNOS ทั้งในระดับโปรตีน และ mRNA ในเซลล์เยื่อบุหลอดเลือด ยิ่งกว่านั้นส่วนสกัด EPE เหนี่ยวนำการฟอสโฟรีเลชันของเอนไซม์ eNOS และ Akt ที่น่าสนใจคือส่วนสกัด EPE สามารถยับยั้งการแสดงออกของโปรตีน vascular cell adhesion molecule-1 และ intercellular adhesion molecule-1 ในเซลล์เยื่อบุหลอดเลือดที่ถูกเหนี่ยวนำด้วย TNF- ข้อมูลที่ได้แสดงให้เห็นว่าส่วนสกัด EPE อาจป้องกันการเกิดภาวะหลอดเลือดแข็งโดยปรับปรุงการทำงานของเซลล์เยื่อบุหลอดเลือด โดยการกระตุ้นการผลิตไนตริกออกไซด์และการแสดงออกของเอนไซม์ eNOS ในเซลล์เยื่อบุหลอดเลือดมนุษย์ และโดยการยับยั้งการเกิดการอักเสบของหลอดเลือด ดังนั้นส่วนสกัดของเร่วหอมนี้อาจถูกนำไปพัฒนาเป็นอาหารเสริมเพื่อใช้รักษา และป้องกันโรค CVDs