Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาประเด็นปัญหาในการการเจรจาและสื่อสารข้ามวัฒนธรรมของผู้ปฏิบัติงานในเขตระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก 2) ออกแบบหลักสูตรและกิจกรรมเพื่อพัฒนาศักยภาพกำลังคนด้านการเจรจาและสื่อสารข้ามวัฒนธรรมที่เหมาะสมกับบริบทของผู้ปฏิบัติงานในเขตระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก โดยรวบรวมแบบสอบถามที่สมบูรณ์จากผู้ตอบแบบสอบถาม จำนวน 75 คนวิเคราะห์ข้อมูลจากแบบสอบถาม ในการคำนวณค่าสถิติ ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และไคสแควร์ จากนั้นทดลองใช้หลักสูตรและเปรียบเทียบผลการทดสอบหลังการอบรมกับเกณฑ์ที่กำหนดเพื่อทดสอบว่าคะแนนเฉลี่ยหลังการอบรมสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดหรือไม่ กลุ่มตัวอย่างคือผู้ตอบแบบสอบถาม สุ่มโดยวิธีแบบตามสะดวก จำนวน 5 คน ผลการวิจัย พบว่า ผู้ปฏิบัติงานส่วนใหญ่มีประสบการณ์การสื่อสารไทย-อังกฤษ ลักษณะงานที่ทำประจำวันมีโอกาสได้ติดต่อประสานงานกับต่างชาติ โดยมีความสัมพันธ์เป็นเพื่อนร่วมงาน หัวหน้า ลูกค้าหรือ ผู้บังคับบัญชา มีการจัดการการเจรจาและสื่อสารข้ามวัฒนธรรมในรูปแบบการรองรับ คือ ไม่แสดงออก สงวนท่าที และให้ความร่วมมือ เพื่อรักษาสายสัมพันธ์กับคู่สนทนา ให้ความสำคัญกับการสื่อสารในบริบทต่ำ เช่น การสื่อสารอย่างเปิดเผย แม่นยำ และชัดเจนกับคู่สนทนาต่างชาติ และคาดหวังการตอบสนองที่ตรงไปตรงมา และสามารถใช้จังหวะการหยุดและการเงียบอย่างเหมาะสมตามสถานการณ์ข้ามวัฒนธรรมที่แตกต่างกันไป การให้ความสำคัญกับการแสดงออกทางวัจนภาษาและอวัจนภาษาสะท้อนความสามารถทางวัฒนธรรมในด้านพฤติกรรมนิยม ภาษากลางส่วนใหญ่ใช้ภาษาอังกฤษ อย่างไรก็ตามผู้ปฏิบัติงานมีปัญหาในการติดต่อประสานงานกับชาวต่างชาติส่วนใหญ่เนื่องจากขาดทักษะการใช้ภาษาอังกฤษอย่างคล่องแคล่ว และพื้นเพภูมิภาคที่แตกต่างกันเป็นอุปสรรคในเรื่องการสื่อสาร จากการทดสอบความสัมพันธ์เกี่ยวกับการเจรจาสื่อสารข้ามวัฒนธรรม พบว่า กลุ่มผู้บริหารและกลุ่มไม่ใช่ผู้บริหาร มีการติดต่อเจรจาสื่อสารกับชาวญี่ปุ่นมากที่สุด รองลงมา จีน อังกฤษ และมีเจตคติในประเด็นข้ามวัฒนธรรมแบบวัฒนธรรมสัมพัทธนิยม ได้แก่ การยอมรับ และ การปรับตัว คือ เคารพความแตกต่างทางพฤติกรรมและเคารพความแตกต่างของคุณค่า มีความพร้อมที่จะเรียนรู้ เตรียมการวางแผน จัดเป็นความฉลาดทางวัฒนธรรมด้านอภิปัญญานิยม มีความประสงค์ฝึกอบรมเรียนรู้การสื่อสารและเจรจาข้ามวัฒนธรรมเกี่ยวกับประเภทและลักษณะการเจรจาต่อรอง รองลงมา กลยุทธ์และกระบวนการในการเจรจา ปัญหาและอุปสรรคในการสื่อสารระหว่างวัฒนธรรม ตามลำดับ ในด้านผลสัมฤทธิ์การเรียนรู้จรณะทักษะโดยการเปรียบเทียบผลการอบรมกับเกณฑ์ที่กำหนด โดยการคำนวณค่าทางสถิติพบว่าค่าเฉลี่ยหลังเรียนสูงกว่าเกณฑ์ร้อยละ 60 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จในการเจรจาและสื่อสารข้ามวัฒนธรรมในกลุ่มผู้ปฏิบัติงานนี้ คือ ความสามารถในการใช้ทักษะภาษาอังกฤษในการสื่อสารได้อย่างคล่องแคล่ว เป็นผู้ฟังและผู้พูดที่ดี มีการใช้ผลัดการสนทนาอย่างเหมาะสม ความใกล้เคียงทางวัฒนธรรม และความรู้ในวัฒนธรรม ตลอดจนความเข้าใจความแตกต่างทางวัฒนธรรม เพื่อลดและหลีกเลี่ยงอุปสรรคความยากลำบากในการสื่อสารข้ามวัฒนธรรม