Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพฤติกรรมเกี่ยวกับการใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลวในการหุงต้ม สภาพอุปกรณ์ครบ อันตราย และการประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายจากการใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลวในการหุงต้ม เป็นการวิจัยเชิงสำรวจโดยทำการสัมภาษณ์ครัวเรือนที่ตั้งอยู่ในชุมชน ที่ได้รับการจัดตั้งโดยสำนักงานเทศบาลเมืองขอนแก่น อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น จำนวน 993 ครัวเรือน (ร้อยละ 11.3 ของครัวเรือนทั้งหมด) พร้อมทั้งสำรวจสภาพอุปกรณ์ควบที่ใช้กับก๊าซปิโตรเลียมเหลวในการหุงต้มและลักษณะการติดตั้ง
ผลการวิจัย พบว่า มีการใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลวในการหุงต้มร้อยละ 60.7 และมีการใช้เตาก๊าซปิคนิคขนาด 4 กิโลกรัมร้อยละ 4.3 โดยที่ชุมชนย่อยประเภทแออัดมีสัดส่วนการใช้เตาก๊าซปิคนิคมากที่สุด มีครัวเรือนเกือบร้อยละ 50 ที่ไม่มีใครรู้ หรือมีความรู้แต่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับการใช้ การติดตั้งการดูลักษณะและสภาพของอุปกรณ์ตลอดจนไม่รู้วิธีการตรวจสอบอุปกรณ์ควบที่ใช้กับก๊าซปิโตรเลียมเหลวในการหุงต้มอย่างถูกวิธีเกี่ยวกับการใช้เตาก๊าซพบว่า ขั้นตอนการจุดเตาก๊าซที่ถูกต้องคือ เปิดวาล์วที่หัวถัง จุดไม้ขีดไฟ แล้วจึงปิดวาล์วที่หัวเตามีเพียงร้อบละ 36.1 เมื่อก๊าซหมดจะใช้บริการเปลี่ยนถังจากร้านค้าก๊าซร้อยละ 89.6 ที่เหลือจะนำไปเติมที่ปั๊มก๊าซ มีการตีวจสอบรอยรั่วของอุปกรณ์โดยใช้น้ำสบู่ หรือแชมพูเพียงร้อยละ 36.7 จากการสำรวจสภาพอุปกรณ์พบว่า ถังก๊าซที่หมุนเวียนอยู่ในท้องตลาดมีอายุการใช้งานระหว่าง 1-6 ปี ร้อยละ 64.2 ถังก๊าซที่มีอายุการใช้งาน 7-9 ปี และ 10-15 ปี มีการทดสอบใหม่เพียงร้อยละ 10.3 และ 3.3 ตามลำดับ หัวปรับความดันเป็นชนิดเกลียวหมุนถึงร้อยละ 71 ในรอบปีที่ผ่านมามีอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจากการจุดเตาก๊าซเพียง 3 รายเท่านั้น แต่เป็นเพียงอุบัติเหตุเล็กน้อยคือเปลวไฟลุกวาบไหม้เส้นผม มือ และใบหน้าบางส่วน การประเมินถึงความเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายจากการใช้และสภาพของอุปกรณ์ พบว่า ครัวเรือนที่มีความรู้เกี่ยวกับก๊าซปิโตรเลียมเหลวยิ่งสูงจะยิ่งมีระดับความเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายน้อยลง
ข้อเสนอแนะ จากการศึกษาแม้ว่าจะพบอันตรายที่เกิดขึ้นจากการใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลวในการหุงต้มเพียง 3 รายจากจำนวน ทั้งหมด 603 ครัวเรือนก็ตามแต่ก็ ยังมีครัวเรือนอีกเกือบครึ่งที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอันตราย เนื่องจากยังมีการใช้และการติดตั้งอุปกรณ์ที่ไม่ถูกต้อง รวมถึงไม่ทราบวิธีการตรวจสอบอุปกรณ์ เช่น การตรวจสอบรอยรั่ว ความผุกร่อนของถัง เป็นต้น ดังนั้น เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายของผู้ใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลวในการหุงต้ม หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง เช่น เทศบาล สำนักงานโยธาธิการจังหวัด บริษัทผู้ค้าก๊าซ น่าจะได้ตระหนักถึงความสำคัญในการให้ความรู้อย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการดูแลควบคุมเกี่ยวกับก๊าซปิโตรเลียมเหลวและอุปกรณ์ควบ ควรได้มีการตรวจสอบเป็นประจำสม่ำเสมอและต่อเนื่องเพื่อให้มีการปฎิบัติให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดไว้ และเพื่อให้ผู้ใช้ก๊าซปิโตรเลียมเหลวในการหุงต้มมีความมั่นใจในความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินอย่างแท้จริง