Abstract:
การศึกษาพวนในภาคตะวันออกศึกษาชุมชนไทยเชื้อสายพวนในภาคตะวันออกที่นครนายก ปราจีนบุรี และ ฉะเชิงเทรา ด้วยวิธีการสัมภาษณ์เชิงลึกเป็นข้อมูลชั้นหนึ่งและศึกษาจากเอกสารข้อมูลชั้นสองเมื่อปี พ.ศ.2545 ผลการศึกษาพบว่า 1. การตั้งถิ่นฐาน การอพยพของคนไทยเชื้อสายพวนจากภูพาน แขวงเมืองเชียงขวาง ประเทศลาวเมื่อปี พ.ศ.2321 สมัยพระเจ้าตากสินมหาราช จนถึงสมัยรัชกาลที่สี่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 2. การตั้งถิ่นฐานชุมชนพวนในภาคตะวันออก ประกอบด้วยชุมชนไทยเชื้อสายพวนที่อำเภอปากพลีและบริเวณใกล้เคียง จังหวัดนครนายก ชาวไทยเชื้อสายพวนที่อำเภอโคกปีหรือศรีมโหสถ จังหวัดปราจีนบุรีและชุมชนคนไทยเชื้อสายพวนที่พนมสารคามและบริเวณใกล้เคียงที่ฉะเชิงเทรา 3. วัฒนธรรมข้าว ชาวไทยเชื้อสายพวนที่ปราจีนบุรีปลูกข้าวพันธุ์ รวม 14 พันธุ์ ที่ฉะเชิงเทรา และใกล้เคียงจำนวน104 สายพันธุ์ มีกระบวนการปลูกข้าว เทคโนโลยี และพิธีกรรมเกี่ยวกับการทำนาที่มีอัตลักษณ์ 4.วัฒนธรรมเครื่องจักสาน ชาวไทยเชื้อสายพวนมีอัตลักษณ์การทำเครื่องจักสานด้วยไม้ใผ่ แสดงออกทางด้านเทคโนโลยี การออกแบบผลิตภัณฑ์สำหรับใช้ในชีวิตประจำวันและการทำนาอย่างน่าสนใจ 5. วัฒนธรรมผ้าชาวไทยเชื้อสายพวนมีลักษณ์เด่นเป็นอัตลักษณ์ประจำกลุ่มทั้งด้านการออกแบบและลวดลาย 6. วัฒนธรรมอาหารและสมุนไพรชาวไทยเชื้อสายพวนมีวัฒนธรรมเกี่ยวกับอาหารและสมุนไพรประกอบด้วยอาหารมื้อหลักที่เป็นอัตลักษณ์และสมุนไพรประจำกลุ่ม 7. ประเพณีท้องถิ่นมีประเพณีเพื่อการทำกิจกรรมร่วมกันมากมายเป็นอัตลักษณ์เช่น ประเพณีในรอบปีและประเพณีทั่วไป 8.ประเพณีส่วนบุคคลเกี่ยวกับประเพณีการเกิด ประเพณีการแต่งงาน ประเพณีการบวชและประเพณีการตาย 9.ภูมิปัญญาท้องถิ่น ได้แก่ภูมิปัญญาเกี่ยวกับภาษาและวรรณกรรม ภูมิปัญญาการสร้างบ้านเรือน ภูมิปัญญาด้านอาหาร ภูมิปัญญาด้านผ้า เป็นต้น