Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสังเคราะห์งานวิจัยเกี่ยวกับรูปแบบการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ งานวิจัยที่นำมาสังเคราะห์ในการวิจัยครั้งนี้
เป็นงานวิจัยในประเทศไทยซึ่งทำโดยอาจารย์หรือผูัเชี่ยวชาญ และวิทยานิพนธ์ที่เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยบูรพา ที่เกี่ยวกับรูปแบบการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญตั้งแต่ พ.ศ. 2548 ถึง พ.ศ. 2558 จำนวน 72 เล่ม เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบประเมินคุณภาพงานวิจัย และแบบสรุปรายละเอียดของงานวิจัย ผลการวิจัยพบว่า
1. งานวิจัยที่นำมาสังเคราะห์ครั้งนี้ใช้รูปแบบการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ จำนวน 52 รูปแบบ ซึ่งสามารถจำแนกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 1) รูปแบบการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญรูปแบบเดียว มีจำนวน 36 รูปแบบ 2) รูปแบบการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญร่วมกันสองรูปแบบ มีจำนวน 9 รูปแบบ 3) รูปแบบการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญร่วมกับเทคนิคการสอน มีจำนวน 6 รูปแบบ และ 4)รูปแบบการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญร่วมกับสื่อการสอน มีจำนวน 1 รูปแบบ
2. จากผลการสังเคราะห์กระบวนการเรียนการสอนของรูปแบบการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ จำนวน 52 รูปแบบ ผู้วิจัยจำแนกองค์ประกอบของรูปแบบการเรียนการสอนคณิตศาสตร์ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญได้ 3 องค์ประกอบ ได้แก่
2.1 หลักการและแนวทางในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ประกอบด้วย 1) ใช้ความรู้หรือประสบการณ์เดิมของผู้เรียนเป็นฐานในการจัดการเรียนการสอน 2) สถานการณ์ปัญหาหรือกิจกรรมที่นำมาใช้ควรสอดคล้องกับชีวิตจริงและมีความหมายกับผู้เรียน 3) ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้มีการค้นคว้า สำรวจ และลงมือปฏิบัติกิจกรรมเพื่อค้นหาความรู้ด้วยตนเอง 4) ส่งเสริมการทำกิจกรรมกลุ่ม และให้ผู้เรียนได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั้งกับครูและเพื่อนร่วมชั้นเรียน 5) ส่งเสริมให้มีการนำความรู้ประยุกต์ใช้เพื่อความคงทนในการเรียนรู้ และ 6) มีการประเมินทั้งความรู้และทักษะกระบวนการโดยใช้การประเมินตามสภาพจริงด้วยวิธีการที่หลากหลาย
2.2 บทบาทของครู ประกอบด้วย 1) เตรียมสถานการณ์ปัญหาหรือกิจกรรมที่น่าสนใจที่นำไปสู่การสร้างความรู้ใหม่ 2) ใช้คำถามกระตุ้นให้ผู้เรียนได้คิดเพื่อสร้างหรือขยายความรู้ด้วยตนเอง รวมทั้งใช้คำถามเพื่อให้ผู้เรียนได้อธิบาย สำรวจตรวจสอบแนวคิดของตนเองและผู้อื่น 3) ให้คำแนะนำผู้เรียนให้เกิดความชัดเจนในการสื่อสาร ใช้ภาษาและสัญลักษณ์ทางคณิตศาสตร์ที่ถูกต้อง และ 4) สร้างแรงจูงใจและให้ข้อมูลย้อนกลับแก่ผู้เรียนในเวลาที่เหมาะสม
2.3 บทบาทของนักเรียน ประกอบด้วย 1) ลงมือปฏิบัติกิจกรรม สืบเสาะค้นหา ตั้งชื่อคาดเดา และสร้างความรู้ได้ด้วยตนเอง 2) ตรวจสอบแนวคิดของตนเอง และนำเสนอเพื่อแลกเปลี่ยนแนวคิดของตนเองกับครูหรือเพื่อร่วมชั้นเรียน และ 3) สามารถเชื่อมโยงความรู้หรือประสบการณ์เดิมกับความรู้ใหม่ที่ได้รับ และนำไปประยุกต์ใช้ได้