Abstract:
โครงงานวิจัยนี้ทำการศึกษาพฤติกรรมของคลื่นที่เคลื่อนที่ผ่านป่าชายเลน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาลักษณะของคลื่นที่เคลื่อนตัวผ่านแนวป่าชายเลนในพื้นที่จริง โดยเน้นลักษณะทางอุทกพลศาสตร์และการลดทอนของคลื่น และเพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประสิทธิภาพการลดพลังงานคลื่นกับตัวแปรที่สำคัญอื่น ได้แก่ ระดับความลึกของน้ำ ความสูงของคลื่น ความยาวของแนวป่าชายเลน และความหนาแน่นของต้นไม้ป่าชายเลน โดยได้ทำการศึกษา ณ บริเวณปากแม่น้ำบางปะกง ตำบลคลองตำหรุ อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี ข้อมูลคลื่นถูกเก็บที่สถานีวัดคลื่น 3 สถานี คือ สถานีนอกฝั่งบริเวณแนวขอบป่าชายเลนติดกับทะเล สถานีกลางป่าซึ่งห่างจากสถานีแรก 50 เมตรไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ และสถานีในสุด ซึ่งห่างจากสถานีแรก 100 เมตรไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือเช่นกัน การวางแนวสถานีดังกล่าวเนื่องจากงานวิจัยสนใจคลื่นที่เกิดจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ข้อมูลคลื่นถูกเก็บจำนวน 3 ครั้ง ได้แก่ ครั้งที่ 1 วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2557 ถึง 8 ตุลาคม พ.ศ. 2557, ครั้งที่ 2 วันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557 ถึง 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557 และครั้งที่ 3 วันที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2558 ถึง 23 เมษายน พ.ศ. 2558 นอกจากนี้ยังมีการเก็บข้อมูลพื้นที่ป่าชายเลน เช่น ขนาดและจำนวนต้นไม้ป่าชายเลน ความยาวแนวป่า ค่าระดับพื้นที่ เพื่อนำไปวิเคราะห์หาปัจจัยที่ต้องการพิจารณาต่อไป
ผลการสำรวจภาคสนาม พบว่า คลื่นที่ตรวจวัดได้มีความสูงไม่มากนัก เนื่องจากเป็นช่วงที่หมดฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พอดี ความสูงคลื่นนัยสำคัญประมาณ 0.60 เมตร การลดทอนคลื่นบริเวณพื้นที่ใกล้ทะเลมีค่ามากกว่าบริเวณที่ถัดมาข้างใน โดยค่าเฉลี่ยของการลดทอนคลื่น ในพื้นที่ศึกษา 50 เมตรแรกมีค่าเท่ากับ 7.29% และค่าเฉลี่ยของการลดทอนคลื่น ในพื้นที่ศึกษา 50 เมตรถัดมา เท่ากับ 4.89% และพิจารณาพื้นที่ทั้งหมด 100 เมตร มีค่าเฉลี่ยของการลดทอนคลื่น เท่ากับ 6.76%
ปัจจัยที่มีผลต่อการลดทอนคลื่น ได้แก่ ความยาวของแนวป่าชายเลน และระดับน้ำ โดยเมื่อความยาวของป่าชายเลนเพิ่มขึ้นและระดับน้ำลดลง การลดทอนจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากเมื่อความยาวแนวป่าชายเลนเพิ่มขึ้นและระดับน้ำลดลง โอกาสที่คลื่นถูกลดทอนด้วยระบบรากและลำต้นของต้นไม้ป่าชายเลนและอิทธิพลของความเสียดทานที่พื้นก็จะมากขึ้นตามไปด้วย ทำให้ค่าสัมประสิทธิ์การลดทอนของคลื่นเพิ่มมากขึ้น สำหรับปัจจัยเรื่องความหนาแน่นของต้นไม้ในป่าชายเลน การศึกษานี้ยังไม่สามารถสรุปผลที่ชัดเจนได้ เนื่องจากค่าความหนาแน่นต้นไม้ของพื้นที่ศึกษาใกล้เคียงกันมาก