Abstract:
การศึกษาเรื่องแนวคิดสิทธิในทรัพย์สินจากกฎหมายตราสามดวงนี้ เป็นการศึกษาแนวคิดเกี่ยวกับประเภทของทรัพย์สิน การได้มาและการครอบครองซึ่งทรัพย์สินในสังคมไทยสมัยอยุธยา ซึ่งพบว่า แนวคิดเกี่ยวกับทรัพย์สินในกฎหมายตราสามดวงมีลักษณะที่แตกต่างจากปัจจุบัน กล่าวคือ การจำแนกประเภทโดยใช้เกณฑ์การมีชีวิตหรือไม่มีชีวิตเป็นเกณฑ์ในการจำแนก ส่วนการได้มาซึ่งทรัพย์สินของบุคคลสถานภาพต่าง ๆ ในสังคมขึ้นอยู่กับโครงสร้างสังคมไทยในสมัยอยุธยา ที่จะมีพื้นฐานจากระบบศักดินา คือ เจ้านายและขุนนางจะมีสิทธิในทรัพย์สินประเภทต่าง ๆ เหนือกว่าราษฎรทั่วไป (ไพร่ ทาส) ทั้งนี้เพราะการได้มาซึ่งทรัพย์สินนั้นส่วนหนึ่งมาจากการที่พระมหากษัตริย์พระราชทานยศ ตำแหน่ง บรรดาศักดิ์ รวมทั้งไพร่ทาสให้กับเจ้านายและขุนนาง อีกส่วนมาจากการแสวงหาเพิ่มเติมจากการทำมาหากินในระบบเศรษฐกิจทั้งการทำนา ทำสวน และการค้าขาย โดยใช้แรงงานของไพร่ทาสในสังคมอยุธยาก็สามารถที่จะสิทธิในการครอบครองทรัพย์สินได้ จะพบว่ากฎหมายจำนวนมากได้ กล่าวถึง การครอบครองทรัพย์สินและความขัดแย้งที่เกิดขึ้นที่เกิดขึ้นจากทรัพย์สินทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต โดยให้ความเป็นธรรม กับเจ้าของทรัพย์สินทุกประเภท ไม่ว่าผู้ครอบครองนั้นจะเป็นเจ้านาย ขุนนางหรือไพร่ทาสก็ตาม ส่วนแนวคิดเกี่ยวกับบทบาทของรัฐในการจัดการทรัพย์สินจะพบว่า รัฐมีบทบาทในการจัดการพื้นฐานตั้งแต่การพระราชทานทรัพย์สินต่าง ๆ ให้กับเจ้านาย ขุนนาง ซึ่งแสดงถึงสิทธิในการได้มาและครอบครองทรัพย์สินประเภทต่าง ๆ ขณะเดียวกันรัฐก็ให้ความคุ้มครองทรัพย์สินด้วย การออกกฎหมายคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินสินหลายฉบับที่ช่วยยืนยันสิทธิในทรัพย์สินของบุคคลต่าง ๆ ดังนั้นความขัดแย้งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับทรัพย์สิน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องไพร่ ทาส ที่ดินที่สวน ข้าวในนาพืชไร่ พืชสวน หรือสวนทรัพย์สินอื่น ๆ เช่น ช้าง ม้า วัว
ความ รัฐได้มีการออกกฎหมายกำหนดถึงแนวทางและวิธีการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น โดยเอาผลประโยชน์ของรัฐเป็นหลักการสำคัญ จึงพบว่าการจัดการทรัพย์สินของรัฐในกฎหมายตราสามดวงจะเน้นที่การสร้างความมั่งคั่งและมั่นคงให้กับรัฐผ่านการปกป้องแรงงานไพร่ทาส มิให้ล้มหายตายหรือลดลง เพื่อให้สามารถเป็นแรงงานที่จะสร้างผลประโยชน์ให้กับรัฐผ่านการทำมาหากินในสังคมเกษตรและการค้าขาย รวมทั้งรัฐยังมีการออกกฎหมายเพื่อแบ่งปันทรัพย์สินมรดกบางส่วน จากเจ้านายและขุนนางเข้าเป็นของรัฐซึ่งเป็นวิธีการหนึ่งในการควบคุมความมั่งคั่งของเจ้านายมิให้มีมากเกินจนอาจทำลายความมั่นคงของรัฐได้