Abstract:
การศึกษานี้เป็นการศึกษาพฤติกรรมและศักยภาพของข้อต่อคาน-เสา-พื้นที่สำเร็จรูปของโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กที่ก่อสร้างโดยใช้มาตรฐานการก่อสร้างของประเทศไทยในการรับแรงแผ่นดินไหวด้วยการทดสอบตัวอย่างขนาดใหญ่ในห้องปฏิบัติการภาควิชาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยบูรพา ตัวอย่างทดสอบที่ 1 ถูกออกแบบและมีรายละเอียดการเสริมเหล็กเพื่อรับแรงบรรทุกในแนวดิ่งเท่านั้น ส่วนตัวอย่างทดสอบที่ 2 ถูกออกแบบเหมือนตัวอย่างที่ 1 ทุกประการยกเว้นมีรายละเอียดการเสริมเหล็กตามมาตรฐานการเสริมเหล็กสำหรับโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กเพื่อรับแรงแผ่นดินไหวตาม มยผ.1301-50 (มยผ.1302-52) ทั้งนี้ตัวอย่างทดสอบทั้งสองตัวอย่างก่อสร้างด้วยช่างที่ชำนาญงานก่อสร้างอาคารคอนกรีตในประเทศไทย ผลการทดสอบแสดงให้เห็นว่าเครื่องทดสอบ UTM สามารถประยุกต์ใช้ในการทดสอบตัวอย่างคอนกรีตขนาดใหญ่นอกแกนเครื่องให้ผลการทดสอบดีมากเมื่อเทียบกับผลการทดสอบจากนักวิจัยท่านอื่นๆ ตัวอย่างที่ 2 รับแรงกระทำสูงสุดที่ปลายคานได้น้อยกว่าตัวอย่างที่ 1 เพียงเล็กน้อย อย่างไรก็ตามตัวอย่างที่ 2 สามารถหมุนได้สูงสุดเท่ากับ 5% radian และตัวอย่างที่ 1 สามารถหมุนได้สูงสุดเท่ากับ 4% radian เพิ่มขึ้นคิดเป็น 25% นอกจากนี้ตัวอย่างที่ 2 สามารถสลายพลังงานได้มากกว่าตัวอย่างที่ 1 เท่ากับ 21% การเสริมเหล็กตามมาตรฐานการเสริมเหล็กสำหรับโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กเพื่อรับแรงแผ่นดินไหว มยผ.1301-50 (มยผ.1302-52) ไม่ช่วยเพิ่มความสามารถในการรับแรงของตัวอย่างคาน-เสาแผ่นพื้นสำเร็จรูป ค.ส.ล แต่ช่วยเพิ่มความเหนี่ยวและความสารถในการสลายพลังงานจากแรงแผ่นดินไหว อย่างไรก็ตามการเพิ่มเหล็กปลอกในเสาและคานที่ตรงบริเวณด้านในข้อต่อและบริเวณรอบๆข้อต่อ สามารถลดการเกิดรอบแตกขนาดใหญ่ในคานหลักและเสา และช่วยลดเกิดรอยแตกด้านบนแผ่นพื้นสำเร็จรูปคอนกรีตเสริมเหล็ก