Abstract:
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความฉลาดทางอารมณ์กับรูปแบบการแก้ปัญหาความขัดแย้ง ความฉลาดทางอารมณ์ตามเพศ
ชั้นปี คณะ สาเหตุความขัดแย้ง ระดับความรุนแรงของความขัดแย้งตามการรับรู้ของนิสิต รูปแบบการแก้ปัญหาความขัดแย้งของนิสิตมหาวิทยาลัยบูรพาระดับปริญญาตรี
กลุ่มตัวอย่างของนิสิตมหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตบางแสน จังหวัดชลบุรี จำนวน 684 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือแบบวัดความฉลาดทางอารมณ์และแบบวัดรูปแบบการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง วิเคราะห์ข้อมูลโดย t-test เพียร์สัน ไคสแควร์ (x2) การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One-way ANOVA) การเปรียบเทียบความแตกต่างเป็นรายคู่ด้วยวิธี Least-Significant Difference (LSD)
ผลการวิจัย สรุปได้ดังนี้
1. นิสิตที่มีเพศต่างกันมีความฉลาดทางอารมณ์ แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยเพศหญิง มีความฉลาดทางอารณ์มากกว่าเพศชาย
2. นิสิตที่มีชั้นปีแตกต่างกันความฉลาดทางอารมณ์ไม่แตกต่างกันทางสถิติ
3. นิสิตที่มีคณะแตกต่างกันความฉลาดทางอารมณ์แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
4. นิสิตที่มีเพศแตกต่างกันมีรูปแบบการแก้ปัญาความขัดแย้งไม่แตกต่างกันทางสถิติ
5. นิสิตที่มีชั้นปีแตกต่างกันมีรูปแบบการแก้ปัญหาความขัดแย้งไม่แตกต่างกันทางสถิติ
6. นิสิตที่มีคณะแตกต่างกันมีรูปแบบการแก้ปัญหาความขัดแย้งไม่แตกต่างกันทางสถิติ
7. ความฉลาดทางอารมณ์ของนิสิตมีความสัมพันธ์กับรูปแบบการแก้ปัญหาความขัดแย้งอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ