Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความรู้ความเข้าใจด้านศิลปวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์
ท้องถิ่นเมืองพิมาย โดยมองผ่านพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมายปราสาทหินพิมายและเมืองพิมาย
อีกทั้งยังศึกษาแนวทางการบริหารจัดการการสื่อความหมายของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และ
ปราสาทหินพิมายตามแนวทางบริหารจัดการแบบใหม่ คือ ศึกษาในส่วนการจัดแสดงใน
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมายปรับปรุงแผ่นป้ายประจำโบราณสถาน เส้นทางท่องเที่ยวภายใน
ปราสาทหินพิมาย และเมืองพิมาย ให้มีความเชื่อมโยงกันทั้งเรื่องราวทางประวัติศาสตร์และเส้นทาง
การท่องเที่ยว ด้วยการสร้างเวทีความรู้ความเข้าใจประวัติศาสตร์ท้องถิ่น โดยริเริ่มจัดแสดงแสงสี
เสียง เรื่องพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 และเรื่องพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ในชื่อเรื่อง "กงรักพรหมทัต" ในงาน
เทศกาลท่องเที่ยวเมืองพิมายประจำปี พ.ศ. 2556-2558
ผลการวิจัยดังกล่าวข้างต้นพบว่า เมืองพิมาย เป็นเมืองโบราณสำคัญในระดับที่ครั้งหนึ่ง
เคยเป็นเมืองหลวงที่ใช้ปกครองอาณาจักรเขมร ในรัชสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 ต้นราชวงศ์
มหิธรปุระ พระองค์ทรงนับถือพระพุทธศาสนา โดยทรงสร้างปราสาทหินพิมายตั้งอยู่เป็น
ศูนย์กลางเมืองเป็นปราสาทประจำรัชกาล และเป็นที่เคารพบูชาของชาวพุทธจนสิ้นรัชกาลของ
พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เมื่อได้นำเสนอเรื่องพระเจ้าชัยวรมันที่ 6 ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ที่ชุมชนชาวพิมาย
ให้รับรู้แพร่หลายยิ่งขึ้น ผลปรากฎว่าชุมชนมีความพึงพอใจที่ได้รับรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเรื่อง
ท้าวพรหมทัต ผ่านตำนานพื้นบ้านเรื่องปาจิต-อรพิมมากขึ้นทำให้เกิดความภาคภูมิใจใน
ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นอย่างชัดเจน และพร้อมที่จะให้ความร่วมมือกันส่งเสริมเผยแพร่ศิลปะและ
วัฒนธรรมของชุมชน เพื่อให้เมืองพิมาย เป็นเมืองอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมที่อยู่ควบคู่กับวิถีชีวิต
ต่อไป