Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อพัฒนาตัวบ่งชี้ความสุขในที่ทำงานของครูปฐมวัย ในโรงเรียนสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน 2) เพื่อตรวจสอบความสอดคล้องของโมเดลการวัดตัวบ่งชี้ความสุขในที่ทำงานของครูปฐมวัย ที่พัฒนาขึ้นจากทฤษฎีกับข้อมูลเชิงประจักษ์ และ 3) เพื่อสร้างเกณฑ์ปกติในการประเมินความสุขในที่ทำงานของครูปฐมวัยโดยใช้รูปแบบการวิจัยแบบผสมผสาน วิธีการวิจัยแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 เป็นการศึกษาเชิงคุณภาพ เพื่อพัฒนาตัวบ่งชี้ความสุขในที่ทำงานของครูปฐมวัย โดยใช้การสัมภาษณ์เชิงลึกกับครูปฐมวัย จำนวน 19 คน วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้วิธีวิเคราะห์เนื้อหา ส่วนระยะที่ 2 เป็นการศึกษาเชิงปริมาณเพื่อตรวจสอบความสอดคล้องของโมเดลการวัดตัวบ่งชี้ความสุขในที่ทำงานของครูปฐมวัย และพัฒนาเกณฑ์ปกติในกลุ่มครูปฐมวัย จำนวน 921 คน จาก 6 ภูมิภาคทั่วประเทศ ซึ่งได้จากการสุ่มแบบหลายขั้นตอน เก็บข้อมูลโดยใช้แบบวัดประมาณค่า 4 ระดับ ที่มีค่าความเชื่อมั่น .94 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรม SPSS for Windows และ LISREL
ผลการวิจัยเชิงคุณภาพ พบว่า ตัวบ่งชี้ความสุขในที่ทำงานของครูปฐมวัย ประกอบด้วย 5 องค์ประกอบหลัก 15 องค์ประกอบย่อย และ 64 ตัวบ่งชี้ ได้แก่ 1) ความคิดเชิงบวก มี 3 องค์ประกอบย่อย 16 ตัวบ่งชี้ 2) ความสัมพันธ์ทางสังคมที่ดี มี 3 องค์ประกอบย่อย
8 ตัวบ่งชี้ 3) การเห็นคุณค่าในตัวเอง มี 3 องค์ประกอบย่อย 16 ตัวบ่งชี้ 4) การรับรู้การสนับสนุนจากองค์กร มี 3 องค์ประกอบย่อย 14 ตัวบ่งชี้ และ 5) การรับรู้ความสามารถและเชี่ยวชาญของตน มี 3 องค์ประกอบย่อย 10 ตัวบ่งชี้ ส่วนผลการวิจัยเชิงปริมาณ พบว่า โมเดลการวัด
ตัวบ่งชี้ความสุขในที่ทำงานของครูปฐมวัยที่พัฒนาขึ้นจากทฤษฎี มีความสอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์ โดยการวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงยืนยันอันดับที่สอง (X2 = 106.35; df = 54; p = .00003; CFI = 1.00; GFI = 0.98; AGFI = 0.97; RMSEA = 0.032; X2 / df = 1.97) และผลการพัฒนาเกณฑ์ปกติ พบว่า มีคะแนนทีปกติอยู่ในช่วง T20 ถึง T81