Abstract:
การวิเคราะห์องค์ประกอบสมรรถนะภาวะผู้นำทางวิชาการของผู้บริหารโรงเรียน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 18 ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์องค์ประกอบและประเมินความเหมาะสมและคุณภาพของคู่มือพัฒนาสมรรถนะภาวะผู้นำทางวิชาการสำหรับผู้บริหารโรงเรียน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยในครั้งนี้ ได้แก่ ผู้บริหารสถานศึกษา รองผู้อำนวยการกลุ่มบริหารวิชาการ และหัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้ ในโรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 18 จำนวน 217 คน เครื่องมือ ที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบสอบถามองค์ประกอบสมรรถนะภาวะผู้นำทางวิชาการของผู้บริหารโรงเรียนและคู่มือพัฒนาสมรรถนะภาวะผู้นำทางวิชาการ การวิเคราะห์ข้อมูลใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป วิเคราะห์หาค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ ค่าสถิติไค-สแควร์ ชั้นแห่งความเป็นอิสระ ค่าน้ำหนักองค์ประกอบ ค่าดัชนีวัดระดับความกลมกลืน ค่าดัชนีวัดระดับความกลมกลืนที่ปรับแก้แล้ว ค่าประมาณความคลาดเคลื่อนของรากกำลังสองเฉลี่ย ประเมินความเหมาะสมและคุณภาพของคู่มือพัฒนาสมรรถนะภาวะผู้นำทางวิชาการสำหรับผู้บริหารโรงเรียน โดยเทคนิคสนทนากลุ่ม (Focus group)
ผลการวิจัยพบว่า
1. ผลการวิเคราะห์สมรรถนะภาวะผู้นำทางวิชาการสำหรับผู้บริหารโรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 18 มีความเหมาะสมในการเป็นตัวบ่งชี้สมรรถนะภาวะผู้นำทางวิชาการ ทั้ง 80 ตัวบ่งชี้ มีค่าเฉลี่ยรวมอยู่ในระดับมาก และผลการวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงยืนยันของโมเดล ค่าดัชนีความกลมกลืนของโมเดลมีผ่านเกณฑ์ที่กำหนดไว้ทั้ง 80 ตัวบ่งชี้
2. คู่มือพัฒนาสมรรถนะภาวะผู้นำทางวิชาการสำหรับผู้บริหารโรงเรียน หนังสือคู่มือตามองค์ประกอบสมรรถนะภาวะผู้นำทางวิชาการทั้ง 7 ด้าน ประกอบด้วย บทที่ 1 บทนำ บทที่ 2 การกำหนดวิสัยทัศน์ เป้าหมายและพันธกิจการเรียนรู้ บทที่ 3 การบริหารจัดการหลักสูตรและการสอน บทที่ 4 การนิเทศ บทที่ 5 การวิจัยเพื่อพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนรู้ บทที่ 6 การพัฒนาครู บทที่ 7 การพัฒนานักเรียน บทที่ 8 การสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ และบทที่ 9 บทสรุป
3. ผลการประเมินความเหมาะสมและคุณภาพของคู่มือพัฒนาสมรรถนะภาวะผู้นำทางวิชาการสำหรับผู้บริหารโรงเรียนมีคุณภาพระดับดีมากทุกด้าน