Abstract:
ยาสามัญประจำบ้านหาซื้อได้ง่าย ใช้สะดวก แต่ถ้าใช้ไม่ถูกอาจส่งผลให้เจ็บป่วยเรื้อรัง และเป็นอันตรายถึงชีวิตได้การศึกษานี้ต้องการศึกษาพฤติกรรมการใช้ยาสามัญของประชาชน กลุ่มตัวอย่างเป็นหัวหน้าครัวเรือนหรือแกนนำสุขภาพครัวเรือน 246 คน ที่มีอายุ 20-80 ปี ซึ่งสุ่มแบบหลายขั้นตอนจากครัวเรือนประชาชนในอำเภอท่าช้าง จังหวัดสิงห์บุรี ข้อมูลเก็บด้วยการสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง ซึ่งถามข้อมูลทั่วไป ความรู้ ความเชื่อ และการปฏิบัติในการใช้ยา มีความเที่ยงแบบสัมประสิทธิ์แอลฟา 0.84, 0.65 และ 0.91 ตามลำดับ ข้อมูลวิเคราะห์ด้วยร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน เปรียบเทียบการปฏิบัติในการใช้ยาระหว่างกลุ่มตัวแปรสถานภาพในครัวเรือน เพศ อายุ และการศึกษาด้วย Independent t-test และการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว และหาความสัมพันธ์ระหว่างความรู้ ความเชื่อ และการปฏิบัติในการใช้ยาด้วยสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์เพียร์สัน ผลการศึกษาพบว่า ประชาชนที่ศึกษา ส่วนมากเป็นหัวหน้าครัวเรือน (56.5%) เป็นผู้หญิง (57.7%) อายุเฉลี่ย 51.6 +14.8 ปี จบการศึกษาสูงสุดประถมศึกษา จำนวนมากสุด (38.6%) รองลงมามัธยมต้น (25.2%) ปริญญาตรีหรือสูงกว่า (16.4%) มัธยมปลายหรือเทียบเท่า (14.6%) ประชาชนมีความรู้เฉลี่ยร้อยละ 71.4 มีความเชื่อเฉลี่ยร้อยละ 68.6 และมีการปฏิบัติในการใช้ยาเฉลี่ย ร้อยละ 54.3 โดยประชาชนที่เป็นหัวหน้าครัวเรือนมีการปฏิบัติมากกว่าแกนนำสุขภาพครัวเรือน และผู้ชายมีการปฏิบัติมากกว่าผู้หญิง ส่วนประชาชนที่มีอายุ และมีการศึกษาสูงสุดต่างกัน มีการปฏิบัติในการใช้ยาสามัญประจำบ้าน ไม่แตกต่างกัน ความรู้กับการปฏิบัติในการใช้ยาสัมพันธ์กับเชิงบวกอย่างมีนัยสำคัญที่ .01 แต่ความเชื่อกับการปฏิบัติในการใช้ยาสัมพันธ์กันเชิงบวกอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ ดังนั้น จึงควรส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้เกี่ยวกับยา และการใช้ยาสามัญประจำบ้านให้เพิ่มขึ้น เพื่อประหยัด และลดปัญหาการใช้ยาในประชาชนต่อไป