Abstract:
สมุนไพรแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ให้ง่ายต่อการรับประทานเป็นผลให้การใช้สมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพิ่มขึ้นและพัฒนาสมุนไพรเป็นพืชเศรษฐกิจที่สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศ การศึกษาครั้งนี้ต้องการหาความสัมพันธ์ระหว่างความรู้เกี่ยวกับสมุนไพร ความเชื่อเกี่ยวกับสมุนไพรและอนุรักษ์สมุนไพรพื้นบ้านของประชาชนในจังหวัดชลบุรี กลุ่มตัวอย่างเป็นตัวแทนของครัวเรือน อายุ 20 ปีขึ้นไป 240 คน โดยวิธีการสุ่มแบบหลายขั้นตอนจาก 3 อำเภอให้กระจายเป็นสัดส่วนกัน เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามที่สร้างขึ้นประกอบด้วยข้อมูลทั่วไป ความรู้เกี่ยวกับสมุนไพร ความเชื่อเกี่ยวกับสมุนไพรและการอนุรักษ์สมุนไพร มีความเที่ยงด้วยวิธีสัมประสิทธิ์แอลฟา 0.92, 0.82 และ 0.95 ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และหาความสัมพันธ์ระหว่างความรู้ความเชื่อเกี่ยวกับสมุนไพรและการอนุรักษ์สมุนไพรด้วยสหสัมพันธ์เพียร์สัน ผลการศึกษาพบว่า ประชาชนมีสมาชิกในครัวเรือนเฉลี่ย 4.16± 1.47 คน ตั้งถิ่นฐานอยู่มาแล้ว 18.30± 16.21 ปี มีอายุเฉลี่ย 45.67± 12.39 ปี ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงร้อยละ 78.8 จบ การศึกษาระดับชั้นมัธยมต้นและต่ำกว่าคิดเป็นร้อยละ 50.9 ส่วนใหญ่มีอาชีพค้าขายร้อยละ 37.1 รองลงมาคือ เกษตรกร ร้อยละ 19.2 มีความรู้เกี่ยวกับสมุนไพรได้คะแนนเฉลี่ย 7.33 ± 4.83 หรือ 52.4 เปอร์เซ็นต์ของคะแนนเต็ม ความเชื่อเกี่ยวกับสมุนไพรได้คะแนนเฉลี่ย 43.33± 7.16 หรือ 72.2 เปอร์เซ็นต์ของคะแนนเต็ม และการอนุรักษ์สมุนไพรได้คะแนนเฉลี่ย 8.22 ± 9.08 หรือ 41.1 เปอร์เซ็นต์ของคะแนนเต็ม แสดงให้เห็นว่าประชาชนมีความรู้และการอนุรักษ์สมุนไพรต่ำแต่มี ความเชื่อที่ค่อนข้างดี ความรู้ ความเชื่อเกี่ยวกับสมุนไพรและการอนุรักษ์สมุนไพรของประชาชน สัมพันธ์กันในเชิงบวกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ 0.05 ดังนั้นจึงควรส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้ และความเชื่อเกี่ยวกับสมุนไพรพื้นบ้านเพิ่มขึ้น เพื่อให้มีการอนุรักษ์สมุนไพรและสร้างมูลค่าเพิ่ม