Abstract:
เครื่องปรับอากาศนับเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีบทบาทสำคัญ และความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้เกิดความต้องการการใช้พลังงานไฟฟ้าในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมาก ก่อให้เกิดภาระแก่ประเทศที่ต้องผลิตไฟฟ้ามากขึ้น และส่งผลต่อการปล่อย CO จากการเผาไหม้เชื้อเพลิงเพื่อผลิตไฟฟ้า ต่อมาโครงการจัดการด้านความต้องการใช้ไฟฟ้า (Demand Side Management: DSM) โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจึงเพิ่มมาตรฐานประสิทธิภาพพลังงานของเครื่องปรับอากาศตามโครงการฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 และยังมีการปรับเพิ่มมาตรฐานประสิทธิภาพของสำนักมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ) ให้สูงขึ้นอีกด้วย ทำให้ในด้านของผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศต้องทำการเพิ่มประสิทธิภาพของเครื่องปรับอากาศให้เป็นไปตามมาตรฐานด้วยเทคโนโลยีต่างๆ ที่อาจกระทบต่อการเพิ่มการใช้วัตถุดิบ และพลังงานในกระบวนการต้นน้ำ ในการศึกษานี้จึงจะทำการประเมินผลการปล่อย CO ตลอดวัฏจักรชีวิตตามวิธีการใน ISO 14044 ประกอบด้วย 5 ขั้นตอน คือ การได้มาซึ่งวัตถุดิบ, การผลิต, การขนส่ง, การใช้งาน และการทำลายซาก ของเครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนขนาด 1 ตันความเย็น ที่มีอายุการใช้งาน 10 ปี เปรียบเทียบผลจากการเพิ่ม EER 3 รุ่น ที่มีการผลิตในปี ค.ศ. 2008, 2010 และ 2012 โดยวิธีการประเมินร่วมระหว่างวิธีการวิเคราะห์เส้นทางกระบวนการ (Process Chains Analysis) และวิธีการแบบจำลองปัจจัยการผลิตและผลผลิต (Input-Out Analysis) โดยจะประเมนตั้งแต่ขั้นตอนของการได้มาซึ่งวัตถุดิบ, การผลิต, การขนส่ง, การใช้งาน และ การทำลายซาก ซึ่งผลจากการประเมินพบว่าการเพิ่ม EER ขึ้นจะทำให้การปล่อย CO ลดลง แต่อย่างไรก็ตามผู้ผลิตควรใช้เทคโนโลยีในการช่วยลดการใช้วัตถุดิบและทรัพยากรต้นทางร่วมด้วย จะส่งผลให้ลดการปล่อย CO ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น