Abstract:
ในกระบวนการผลิตปลามักมีเศษวัสดุเหลือทิ้งอย่างเช่นเกล็ดปลาซึ่งเป็นแหล่งของคอลลาเจน ดังนั้น จึงทำการวิเคราะห์หาองค์ประกอบทางเคมี การสกัดคอลลาเจนที่ละลายได้ในกรดอ่อนร่วมกับคลื่นไมโครเวฟ และฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระของคอลลาเจนจากเกล็ดปลาทะเล โดยเกล็ดปลากะพงขาว (Lates calcarifer) เกล็ดปลาเก๋า (Epinephelus malabaricus) และเกล็ดปลาช่อนทะเล (Rachycentron canadum) มีปริมาณโปรตีนอยู่ในช่วงร้อยละ 48.13 - 55.05 และมีปริมาณไขมัน
อยู่ในช่วงร้อยละ 0.05 - 0.07 ปริมาณกรดไขมันในเกล็ดปลาทะเล พบองค์ประกอบของกรดไขมันชนิดอิ่มตัว (SFAs) มากที่สุด อยู่ในช่วง 39.59 - 48.91 %TFA โดยมีกรดปาล์มิติก (16:0) และกรดเฮปตาเดคาโนอิก (17:0) เป็นชนิดเด่น ตามด้วยกรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว (MUFAs; 3.10 - 8.99 %TFA) และกรดไขมันชนิดไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน (PUFAs; 1.09 - 4.62 %TFA) การวิเคราะห์สารสกัดคอลลาเจนด้วยกรดอ่อนร่วมกับคลื่นไมโครเวฟด้วยเทคนิค FTIR พบจำนวน 5 พีค ได้แก่ amide A พบที่เลขคลื่น 3281.10 cm-1 amide B พบที่เลขคลื่น 2935.61 cm-1 amide I พบที่เลขคลื่น 1628.22 cm-1 amide II พบที่เลขคลื่น 1547.99 cm-1 และ amide III พบที่เลขคลื่น 1237.76 cm-1 กรดอะมิโนในสารสกัดคอลลาเจนจากเกล็ดปลาทะเล พบกรดอะมิโนที่มีปริมาณสูง 3 อันดับ
แรก คือ ไกลซีน โพรลีน และ อะลานีน และการศึกษารูปแบบโปรตีนด้วยเทคนิค SDS–PAGE เปรียบเทียบกับคอลลาเจนบริสุทธิ์พบว่าคอลลาเจนจากเกล็ดปลาทะเลเป็นชนิดที่ 1 การศึกษาฤทธิ์ในการยับยั้งอนุมูลอิสระ DPPH และ ABTS ของสารสกัดหยาบคอลลาเจนจากเกล็ดปลาทะเล พบว่า การสกัดด้วยกรดอ่อนร่วมกับคลื่นไมโครเวฟให้สารสกัดคอลลาเจนที่มีฤทธิ์ดีกว่าการสกัดด้วยกรดอ่อนร่วมกับคลื่นอัลตร้าโซนิค โดยสารสกัดคอลลาเจนจากเกล็ดปลากะพงขาวมีฤทธิ์ในการยับยั้งอนุมูลอิสระ DPPH ได้ดี มีค่า IC50 เท่ากับ 12.75 และ 14.31 mg/ml ในขณะที่ สารสกัดคอลลาเจนจากเกล็ดปลาช่อนทะเลมีฤทธิ์ในการยับยั้งอนุมูลอิสระ ABTS ได้ดี มีค่า IC50 เท่ากับ 0.38 และ 3.11 mg/ml ดังนั้น จะเห็นได้ว่าสารสกัดคอลลาเจนที่ละลายได้ในกรดอ่อนจากเกล็ดปลากะพงขาวและเกล็ดปลาช่อนทะเล สามารถเป็นแหล่งทางเลือกของการผลิตคอลลาเจนที่มีคุณสมบัติในการต้านอนุมูลอิสระ