Abstract:
งานวิจัยฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความรับผิดชอบต่อสังคม และธรรมาภิบาลต่อผลตอบแทนของผู้มีส่วนได้เสียของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) โดยแบ่งผู้มีส่วนได้เสียออกไป 3 กลุ่ม ได้แก่ 1) บริษัทซึ่งวัดผลตอบแทนจากอัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ (ROA) ในอนาคต และมูลค่าตลาด (Tobin’s Q) ในอนาคต 2) พนักงาน ซึ่งวัดผลตอบแทนจากอัตราผลตอบแทนพนักงาน (Compensation) ในอนาคต และ 3) ผู้ถือหุ้น ซึ่งวัดผลตอบแทนจากอัตราผลตอบแทนจากส่วนของเจ้าของ (ROE) ในอนาคต และอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล (Dividend Yield) ในอนาคต ตัวแปรควบคุม คือ ขนาดกิจการ อายุ การเป็นบริษัทมหาชนจำกัด และอุตสาหกรรมใช้ตัวอย่างจำนวน 1,188 ตัวอย่าง และทดสอบ สมมติฐานด้วยวิธีการวิเคราะห์ถดถอยพหุคูณ ผลการศึกษาพบว่า บริษัทที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมมีแนวโน้มในการให้ผลตอบแทนที่ดีต่อผู้มีส่วนได้เสียที่เป็นบริษัท พนักงาน และผู้ถือหุ้น ในส่วนของบริษัทพบว่า บริษัทที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมโดยเฉลี่ยมีแนวโน้มที่อัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ (ROA) ในอนาคตจะ มากกว่าบริษัทที่ไม่มีความรับผิดชอบต่อสังคม แต่จะมีมูลค่าตลาด (Tobin’s Q) ในอนาคตน้อยกว่าบริษัทที่ไม่มีความรับผิดชอบต่อสังคม ในส่วนของพนักงานพบว่า บริษัทที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมโดยเฉลี่ย มีแนวโน้มที่อัตราผลตอบแทนพนักงาน (Compensation) ในอนาคตจะมากกว่าบริษัทที่ไม่มีความรับผิดชอบต่อสังคม และในส่วนของผู้ถือหุ้น พบว่าบริษัทที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมโดยเฉลี่ย มีแนวโน้มที่อัตราผลตอบแทนจากส่วนของเจ้าของ (ROE) ในอนาคต และอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล (Dividend Yield) ในอนาคตจะมากกว่าบริษัทที่ไม่มีความรับผิดชอบต่อสังคม ดังนั้น แม้ว่าการดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมจะทำให้ต้นทุนในการดำเนินงานเพิ่มขึ้นแต่ต้นทุนนั้น มีแนวโน้มที่จะส่งผลตอบแทนที่ดีต่อผู้มีส่วนได้เสียทั้งบริษัทพนักงาน และผู้ถือหุ้นในอนาคต