Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา 1. การบาดเจ็บเนื่องจากการทำงานของลูกจ้าง 2. ปัจจัยที่มีผลต่อระดับการบาดเจ็บเนื่องจากการทำงานของลูกจ้าง โดยเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง ลูกจ้างเฉพาะที่บาดเจ็บเนื่องจากการทำงานในสถานประกอบการในความรับผิดชอบของศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานภาค 2 สำนักงานประกันสังคม จำนวน 212 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวม ข้อมูล คือ แบบประเมินการบาดเจ็บรายบุคคลของลูกจ้างในสถานประกอบการ และการวิเคราะห์ ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสถิติอ้างอิง คือ การวิเคราะห์ถดถอยโลจิสติกแบบอันดับ (Order logistic regression) ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มตัวอย่างลูกจ้างที่บาดเจ็บเนื่องจากการทำงาน ส่วนใหญ่มีระดับการบาดเจ็บรุนแรงมาก คิดเป็นร้อยละ 85.4 รองลงมา คือ ระดับการบาดเจ็บเล็กน้อย ระดับการบาดเจ็บรุนแรงปานกลาง และระดับการบาดเจ็บที่เป็นอันตรายต่อชีวิต ตามลำดับ เมื่อพิจารณาปัจจัยที่มีผลต่อระดับการบาดเจ็บเนื่องจากการทำงานของลูกจ้างพบว่า เพศ ตำแหน่งงาน ค่าจ้างที่ได้รับ ขณะประสบอันตราย การทำงานกับเครื่องจักรชำรุด การเลือกสวมอุปกรณ์ป้องกันบางชนิด การไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบด้านความปลอดภัย และการอ่อนเพลียจากการอดนอน มีผลต่อระดับการบาดเจ็บเนื่องจากการทำงานอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01, 0.01, 0.01, 0.01, 0.05, 0.01 และ 0.01 ตามลำดับ ในขณะที่อายุ ประสบการณ์ในการทำงานหรืออายุงานในแผนก จำนวนชั่วโมง ในการทำงาน การตรวจสอบเครื่องจักรขณะที่เครื่องจักรทำงาน การไม่สวมใส่อุปกรณ์ป้องกัน อันตราย การใช้อุปกรณ์ในการทำงานที่ไม่ปลอดภัย ความเครียดขณะทำงาน และประสบการณ์ในการอบรม/ ฝึกปฏิบัติการความปลอดภัยในการทำงาน ไม่มีผลต่อระดับการบาดเจ็บเนื่องจากการทำงานของลูกจ้าง