Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาฟลักซ์ของสารอาหารอนินทรีย์ละลายน้ำและของแข็งแขวนลอย รวมถึงศึกษาคุณภาพน้ำที่บริเวณแม่น้ำปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2561 เดือนมีนาคม เดือนมิถุนายน และเดือนกันยายน พ.ศ. 2562 ผลการศึกษาพบว่า ฟลักซ์สุทธิของน้ำและสารอาหารอนินทรีย์ละลายน้ำทุกชนิดถูกควบคุมด้วยปริมาณน้ำท่าที่ถูกปล่อยมาจากเขื่อนปราณบุรีเป็นหลัก โดยฟลักซ์ของน้ำส่วนใหญ่มีทิศทางไหลออกสู่ทะเล ยกเว้นเดือนธันวาคมที่ฟลักซ์สุทธิของน้ำและของแข็งแขวนลอยมีทิศทางไหลจากทะเล เข้าสู่แม่น้ำในปริมาณ 0.01 x 106 m 3 /day และ 62.59 ton/day ตามลำดับ เดือนที่มีปริมาณฟลักซ์สุทธิของน้ำซิลิเกต และฟอสเฟตไหลออกสู่ทะเลมากที่สุด คือ เดือนกันยายนซึ่งตรงกับช่วงฤดูน้ำมาก (2.01 x 106 m 3 /day 4,658.25 kg Si/day และ 72.04 kg P/day ตามลำดับ) ในส่วนเดือนมีนาคม และมิถุนายน พบว่าฟลักซ์สุทธิของน้ำมีค่าใกล้เคียงกัน (0.76 x 106 m 3 /day และ 0.85 x 106 m 3 /day ตามลำดับ) และพบว่าฟลักซ์สุทธิของแอมโมเนีย และไนเตรท มีค่าสูงที่สุดในเดือนมีนาคมซึ่งตรงกับฤดูแล้ง (276.60 และ 220.70 kg N/day ตามลำดับ) โดยสารอาหารมีที่มาจาก แหล่งชุมชนเป็นหลัก คุณภาพน้ำภายในแม่น้ำปราณบุรีจัดอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพน้ำแหล่ง น้ำผิวดินประเภทที่ 3 (สามารถใช้ประโยชน์เพื่อการเกษตรกรรม) ยกเว้นค่าออกซิเจนละลายน้ำที่มีค่าต่ำกว่า4 mg/l และค่าบีโอดีที่สูงกว่า 2 mg/l ในเขตพื้นที่ชุมชนในเดือนธันวาคม (ในช่วงเปลี่ยนจากฤดูน้ำมากเป็นฤดูแล้ง) และมีนาคม (ฤดูแล้ง)