Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาโปรแกรมการฟื้นฟูความจำแบบจำได้ในผู้ติดสุราโดยใช้โปรแกรมการบำบัดความคิดและพฤติกรรมร่วมกับการฝึกด้านร่างกายและจิตใจในผู้ป่วยติดสุราที่มีภาวะบกพร่องทางสมอง ศึกษาการเรียกคืนความจำแบบจำได้ในเชิงพฤติกรรม คลื่นไฟฟ้าสมอง ขณะทำกิจกรรมทดสอบ กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยติดสุรา จำนวน 60 คน จัดกลุ่มอาสาสมัครเข้ากลุ่มด้วยเกณฑ์การคัดกรอง จำนวน 3 กลุ่ม (จำนวนกลุ่มละ 20 คน) กลุ่มทดลองได้รับการฝึกและติดตามผลหลังการทดลองระยะเวลา 6 เดือน และ 9 เดือน เก็บรวมรวมข้อมูลขณะทำกิจกรรมการทดสอบผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ จากแบบทดสอบ Delayed Matching to Sample (DMS) Paired Associates Learning (PAL) และ Pattern Recognition (PRM) สถิติที่ใช้ ได้แก่ Repeated ANOVA และ 2-way MANOVA ผลการวิจัยปรากฏว่า โปรแกรมการฟื้นฟูความจำแบบจำได้ มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด ประกอบด้วย กิจกรรมบำบัด 6 ครั้ง เป็นเวลา 7 สัปดาห์ ใช้เวลาในการทำกลุ่ม 1.30 ชั่วโมง หลังการทดลองมีคะแนน เฉลี่ยตอบถูกสูงกว่า และใช้เวลาปฏิกิริยาน้อยกว่า เมื่อเทียบกับก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<.05) ผลการเปรียบเทียบข้อมูลพลังงานสัมบูรณ์ของช่วงความถี่คลื่นไฟฟ้าสมองย่าน Theta, Alpha, Low Beta และ High Beta ขณะทำกิจกรรมการทดสอบการเรียกคืนความจำแบบจำได้ ได้แก่ แบบทดสอบ DMS, PAL, และ PRM ระหว่างระยะติดตามผล 6 เดือน กับระยะติดตามผล 9 เดือน ในกลุ่มทดลอง ปรากฏว่ากลุ่มทดลองมีค่าพลังงานสัมบูรณ์ของช่วงความถี่คลื่นไฟฟ้าสมองย่าน Theta, Alpha, Low Beta และ High Beta หลังการฝึกสูงกว่าก่อนการฝึกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ในทุกบริเวณสมอง ได้แก่ บริเวณเปลือกสมองส่วนหน้า บริเวณเปลือกสมองด้านข้าง และบริเวณเปลือกสมองส่วนขมับ สรุปได้ว่า การฝึกด้วยโปรแกรมการบำบัดความคิดและพฤติกรรมร่วมกับการฝึกด้านร่างกายและจิตใจอย่างต่อเนื่อง สามารถช่วยเพิ่มความจำแบบจำได้ในผู้ป่วยติดสุราได้ในเชิงพฤติกรรม และศึกษาคลื่นไฟฟ้าสมอง