Abstract:
อายุที่มากขึ้นสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่ก่อให้เกิดปัญหาด้านทักษะทางปัญญา การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาโปรแกรมการเพิ่มการเลือกใส่ใจตามทฤษฎีบรอดเบนท์สำหรับผู้สูงอายุ และศึกษาผลของการใช้โปรแกรมฯ ต่อการเลือกใส่ใจทั้งด้านพฤติกรรม และด้านคลื่นไฟฟ้าสมอง กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้สูงอายุจากชมรม ผู้สูงอายุ โรงพยาบาลเสาไห้เฉลิมพระเกียรติ จังหวัดสระบุรี จำนวน 90 คน ที่ผ่านเกณฑ์คัดเข้าที่กำหนดสุ่มเข้ากลุ่ม 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ใช้โปรแกรมการเพิ่มการเลือกใส่ใจตามทฤษฎีบรอดเบนท์กลุ่มใช้โปรแกรมตามแนวคิดแจนนิเชฟสกี้และกลุ่มควบคุมที่ไม่ใช้โปรแกรม เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ โปรแกรม Flanker จากชุด ทดสอบ The Psychology Experiment Building Language (PEBL) และเครื่องบันทึกคลื่นไฟฟ้าสมอง Emotiv EPOC headset จำนวน 14 Channels วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติพื้นฐาน สถิติทดสอบที การวิเคราะห์ความแปรปรวนร่วม และการวิเคราะห์ความแปรปรวนร่วมพหุ ผลการวิจัยปรากฏว่า หลังการทดลอง มีค่าเฉลี่ยคะแนนความถูกต้องของการตอบสนองมากกว่า และมีค่าเวลาปฏิกิริยาน้อยกว่าก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001 และยังพบว่าหลังการทดลองมีค่าเฉลี่ยคะแนนความถูกต้องของการตอบสนองมากกว่า และมีค่าเวลาปฏิกิริยาน้อยกว่ากลุ่มควบคุม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001 และ .05 ตามลำดับ ส่วนการศึกษาด้านคลื่นไฟฟ้าสมอง กลุ่มใช้โปรแกรมตามทฤษฎีบรอดเบนท์ และโปรแกรมตามแนวคิดแจนนิเชฟสกี้มีค่ารีเลทีฟพาวเวอร์ (คลื่นเธต้า และคลื่นอัลฟ่า) น้อยกว่าก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และ .01 ตามลำดับ นอกจากนี้ หลังการทดลองกลุ่มที่ใช้โปรแกรมการเพิ่มการเลือกใส่ใจตามทฤษฎีบรอดเบนท์ และกลุ่มใช้โปรแกรมตามแนวคิดแจนนิเชฟสกี้มีค่ารีเล ทีฟพาวเวอร์ (คลื่นเธต้า และคลื่นอัลฟ่า) น้อยกว่ากลุ่มควบคุม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001 สรุปได้ว่า โปรแกรมที่พัฒนาขึ้นสามารถเพิ่มการเลือกใส่ใจในผู้สูงอายุได้ ซึ่งจะเป็นทางเลือกในการพัฒนากระบวนการรู้คิด และเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุให้ดีขึ้น