Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและเปรียบเทียบทักษะการคิดเชิงนวัตกรรมของเด็กอนุบาลก่อนและหลังการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ตามแนวคิดสะเต็มศึกษา รูปแบบการวิจัยเป็นการวิจัยกึ่งทดลองกลุ่มตัวอย่างคือเด็กอนุบาลอายุ 5-6 ปีโรงเรียนวัฒนานุศาสน์สังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน ภาคเรียนที่ 2 ปี การศึกษา 2563 จำนวน 35 คน ซึ่งได้มาจากการสุ่มแบบแบ่งกลุ่ม โดยใช้ห้องเรียนเป็นหน่วยสุ่มใช้เวลาในการทดลองจัดประสบการณ์การเรียนรู้ตามแนวคิดสะเต็มศึกษาครั้งละ 30 นาทีติดต่อกันสัปดาห์ละ 5 ครั้ง เป็นเวลา 6 สัปดาห์เครื่องมือที่ใช้ได้แก่ แผนการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ตามแนวคิดสะเต็มศึกษาสำหรับเด็กอนุบาล จำนวน 30 แผน และแบบประเมินทักษะการคิดเชิงนวัตกรรมของเด็กอนุบาลชนิดมาตรประมาณค่าแบบบรรยาย 3 ระดับ มีค่าดัชนีความสอดคล้องระหว่างข้อคำถามกับจุดประสงค์ (IOC) ตั้งแต่ .67-1.00 และค่าความเชื่อมั่นตลอดทั้งฉบับ เท่ากับ .92 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบที (ttest) ผลการวิจัย พบว่า 1) เด็กอนุบาลมีทักษะการคิดเชิงนวัตกรรมก่อนการทดลองอยู่ในระดับควรส่งเสริม หลังการทดลองอยู่ในระดับดี 2) เด็กอนุบาลมีทักษะการคิดเชิงนวัตกรรมหลังการทดลองสูงกว่าก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ผลการวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่าการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ตามแนวคิดสะเต็มศึกษา สามารถนำไปใช้ในการเสริมสร้างทักษะการคิดเชิงนวัตกรรมของเด็กอนุบาลได้