Abstract:
ความต้องการด้านจิตวิญญาณของผู้ป่วยมะเร็งระยะประคับประคอง เป็นสิ่งสำคัญที่พยาบาลควรประเมิน และตอบสนองความต้องการด้านจิตวิญญาณ เพื่อให้ผู้ป่วยเกิดความผาสุกทางจิตวิญญาณการศึกษานี้เป็นการวิจัยเชิงพรรณนาเพื่อศึกษาหาความสัมพันธ์ระหว่างการรับรู้ความรุนแรงของการเจ็บป่วยการปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนาและการสนับสนุนทางสังคมกับความต้องการด้านจิตวิญญาณในผู้ป่วยมะเร็งระยะประคับประคองกลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยมะเร็งระยะประคับประคองที่เข้ารับการรักษาที่แผนกผู้ป่วยในโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมาที่มีค่าคะแนน Palliative Performance Scale 30-60% จำนวน 84 ราย สุ่มตัวอย่างด้วยการสุ่มตัวอย่างโดยกำหนดช่วงเวลาเก็บรวบรวมข้อมูลระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม พ.ศ. 2563 เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วยแบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคลแบบสอบถามความต้องการด้านจิตวิญญาณ แบบสอบถามการปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนา แบบสอบถามการรับรู้การสนับสนุนทางสังคมแบบพหุมิติและแบบสอบถามการรับรู้ความรุนแรงของการเจ็บป่วยที่มีค่าสัมประสิทธิ์แอลฟาของครอนบาคเท่ากับ .82, .85, .83 และ .85 ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติพรรณนาและสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สัน ผลการวิจัย พบว่ากลุ่มตัวอย่างมีความต้องการด้านจิตวิญญาณอยู่ในระดับสูง (M = 2.67, SD = 0.12) ผลการวิเคราะห์ความสัมพันธ์พบว่าการรับรู้ความรุนแรงของการเจ็บป่วยและการปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนาและการสนับสนุนทางสังคม มีความสัมพันธ์ทางบวกกับความต้องการด้านจิตวิญญาณอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (r= .40, p< .001; r= .36, p< .01, r= .25, p< .05 ตามลำดับ) ผลการวิจัยครั้งนี้แสดงว่าผู้ป่วยมะเร็งระยะประคับประคองมีความต้องการด้านจิตวิญญาณ ดังนั้นพยาบาลควรจัดทำแนวปฏิบัติการพยาบาลเพื่อตอบสนองความต้องการด้านจิตวิญญาณ โดยการประเมินความรุนแรงของการเจ็บป่วยส่งเสริมการปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนาให้การสนับสนุนทางสังคม เพื่อให้ผู้ป่วยเกิดความผาสุกทางจิตวิญญาณและมีคุณภาพชีวิตที่ดีในระยะสุดท้าย