Abstract:
การติดเชื้อ Human Papilloma Virus [HPV] ในชายรักชายเป็นสาเหตุสำคัญของโรคมะเร็งปากทวารหนักและมะเร็งอื่น ๆ การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยทำนายความตั้งใจในการฉีดวัคซีน HPV ของกลุ่มเยาวชนชายรักชายจังหวัดชลบุรีโดยใช้แบบจำลองเชิงบูรณาการเพื่อการทำนายพฤติกรรม (The integrative model: IM) กลุ่มตัวอย่างคือเยาวชนชายรักชาย (อายุ 18-26 ปี) ที่มีประสบการณ์เพศสัมพันธ์ทางทวารหนักกับเพศชายในช่วงชีวิตที่ผ่านมา จำนวน 308 คน คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างโดยใช้กระบวนการสุ่มแบบส่งต่อเป็นลูกโซ่ (Respondent Driven Sampling [RDS]) เครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถามที่ตอบด้วยตนเองผ่านระบบออนไลน์ (E-questionnaire) โดยใช้ Google form ประกอบด้วยข้อมูลส่วนบุคคลความรู้เกี่ยวกับเชื้อ HPV และวัคซีน HPV การรับรู้สถานการณ์ในการฉีดวัคซีน HPV ทัศนคติต่อการฉีดวัคซีน HPV การคล้อยตามกลุ่มอ้างอิงในการฉีดวัคซีน HPV และการรับรู้ความสามารถของตนเองในการฉีดวัคซีน HPV และความตั้งใจในการฉีดวัคซีน HPV มีค่าสัมประสิทธิ์ KR-20 และครอนบาคแอลฟาเท่ากับ 0.75, 0.87, 0.92, 0.83, 0.94 และ0.91 ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติสมการถดถอยพหุคูณแบบขั้นตอน (Stepwise multiple regression analysis) ผลการศึกษา พบว่า 1) กลุ่มเยาวชนชายรักชายในจังหวัดชลบุรีมีค่าคะแนนเฉลี่ย ความตั้งใจในการฉีดวัคซีน HPV อยู่ในระดับปานกลาง (Mean = 13.45, SD = 2.395) 2) การรับรู้ความสามารถของตนเองในการฉีดวัคซีน HPV (Beta= .402), การคล้อยตามกลุ่มอ้างอิงในการฉีด วัคซีน HPV (Beta= .246) และการรับรู้สถานการณ์การฉีดวัคซีน HPV (Beta= .161) สามารถ ร่วมกันทำนายความตั้งใจในการฉีดวัคซีน HPV ของกลุ่มเยาวชนชายรักชายจังหวัดชลบุรีได้ร้อยละ 37.8 (Adjusted R 2 = .378) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 อย่างไรก็ตามประสบการณ์การมีกลุ่มอาการโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ จำนวนคู่นอน ความรู้เกี่ยวกับเชื้อ HPV และวัคซีน HPV และทัศนคติต่อการฉีดวัคซีน HPV ไม่สามารถร่วมทำนายความตั้งใจในการฉีดวัคซีน HPV ของกลุ่มเยาวชนชายรักชายจังหวัดชลบุรีได้ผลจากการวิจัยครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ในการส่งเสริมความตั้งใจในการฉีดวัคซีน HPV ของกลุ่มเยาวชนชายรักชาย เพื่อป้องกันการติดเชื้อ HPV และลดอุบัติการณ์ของโรคมะเร็งปากทวารหนักและโรคมะเร็งอื่น ๆ ต่อไป