Abstract:
ผู้สูงอายุที่มีภาวะการรู้คิดบกพร่อง หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที จะทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะสมองเสื่อมเพิ่มขึ้น การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาโปรแกรมการบริหารนิ้วมือร่วมกับดนตรีบำบัด และโปรแกรมดนตรีบำบัด และศึกษาผลของโปรแกรมที่พัฒนาขึ้นต่อสมรรถภาพความจำเหตุการณ์และตัวชี้วัดทางชีวภาพในผู้สูงอายุที่มีภาวะการรู้คิดบกพร่อง กลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้สูงอายุที่มีภาวะการรู้คิดบกพร่อง จำนวน 60 คน สุ่มเข้ากลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมด้วยวิธีการสุ่มอย่างง่าย 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มควบคุมที่ไม่ได้รับโปรแกรมการฟื้นฟูความจำเหตุการณ์ (กลุ่มควบคุม) กลุ่มทดลองที่ได้รับโปรแกรมการบริหารนิ้วมือร่วมกับดนตรีบำบัด (กลุ่ม ทดลองที่ 1) และกลุ่มทดลองที่ได้รับโปรแกรมดนตรีบำบัด (กลุ่มทดลองที่ 2) วัดก่อนและหลังการทดลอง เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ โปรแกรมการบริหารนิ้วมือร่วมกับดนตรีบำบัด โปรแกรมดนตรีบำบัด กิจกรรมทดสอบความจำเหตุการณ์ และเครื่องมือตรวจตัวชี้วัดทางชีวภาพ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยวิธีหาค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสถิติทดสอบ Chi – Square, One – Way ANOVA, Dependent t-test, One – Way ANCOVA และ Correlation Analysis ผลวิจัยปรากฏว่า หลังการทดลอง กลุ่มทดลองที่ 1 มีค่าเฉลี่ยคะแนนการรู้จำทั้งหมดและค่าดัชนีแยกแยะความเหมือนมากกว่ากลุ่มทดลองที่ 2 และกลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 ในขณะที่กลุ่มทดลองที่ 2 มีค่าเฉลี่ยคะแนนการรู้จำและค่าดัชนีการแยกแยะความเหมือน ไม่แตกต่างจากกลุ่มควบคุม นอกจากนี้ยังพบว่า หลังการทดลอง กลุ่มทดลองที่ 1 และกลุ่มทดลองที่ 2 มีระดับค่าตัวชี้วัดทางชีวภาพน้อยกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001 และที่ระดับ .05 ตามลำดับ อีกทั้งยังพบความสัมพันธ์เชิงลบระหว่างสมรรถภาพความจำเหตุการณ์กับตัวชี้วัดทางชีวภาพอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 สรุปได้ว่า โปรแกรมการบริหารนิ้วมือร่วมกับดนตรีบำบัด สามารถเพิ่มสมรรถภาพความจำเหตุการณ์และลดระดับค่าตัวชี้วัดทางชีวภาพในผู้สูงอายุที่มีภาวะการรู้คิดบกพร่องได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะเดียวกัน โปรแกรมดนตรีบำบัดไม่สามารถเพิ่มสมรรถภาพความจำเหตุการณ์ได้ แต่สามารถลดระดับค่าตัวชี้วัดทางชีวภาพในผู้สูงอายุที่มีภาวะการรู้คิดบกพร่องได้