กรุณาใช้ตัวระบุนี้เพื่ออ้างอิงหรือเชื่อมต่อรายการนี้: https://buuir.buu.ac.th/xmlui/handle/1234567890/1484
ชื่อเรื่อง: การพัฒนาสารสนเทศด้านสุขภาพของผู้สูงอายุ (ปีที่ 1)
ชื่อเรื่องอื่นๆ: Meta-analysis of research on elderly in eastern region of Thailand
ผู้แต่ง/ผู้ร่วมงาน: เวธกา กลิ่นวิชิต
ยุวดี รอดจากภัย
คนึงนิจ อุสิมาศ
มหาวิทยาลัยบูรพา. คณะแพทยศาสตร์
มหาวิทยาลัยบูรพา. คณะสาธารณสุขศาสตร์
คำสำคัญ: คุณภาพชีวิต
ผู้สูงอายุ
สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์
วันที่เผยแพร่: 2556
สำนักพิมพ์: คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
บทคัดย่อ: แผนงานวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนารูปแบบการดูแลผู้สูงอายุ โดยมีวัตถุประสงค์ย่อย ดังนี้ 1) เพื่อพัฒนาสารสนเทศและจัดการความรู้ด้านสุขภาพผู้สูงอายุ 2) เพื่อพัฒนารูปแบบและประเมินศักยภาพในการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุโยใช้การมีส่วนร่วมของชุมชน 3) เพื่อพัฒนามาตรฐานการดูแลผู้สูงอายุที่เป็นโรคเรื้อรัง 4) เพื่อพัฒนารูปแบบและประเมินศักยภาพการดูแลภาวะโภชนาการในผู้สูงอายุ 5) เพื่อพัฒนารูปแบบการพัฒนาชุมชนและครอบครัวต้นแบบเพื่อดูแลผู้สูงอายุแบบบูรณาการ 6) เพื่อพัฒนามาตรฐานการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุในศูนย์บริการแบบพักค้างและแบบช่วงกลางวัน และ 7) เพื่อพัฒนารูปแบบการเตรียมความพร้อมของผู้สูงอายุและครอบครัวสู่การตายอย่างสงบที่บ้านและโรงพยาบาล ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง เป็นผู้สูงอายุ ผู้ให้บริการ ผู้ดูแลและผู้ที่เกี่ยวข้องในการดูแลผู้สูงอายุในภาคตะวันออกของไทย วิธีดำเนินการวิจัย ใช้วิจัยเชิงพัฒนาการวิจัยเชิงปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วม การวิจัยเชิงสำรวจ การวิจัยเชิงพรรณนา และการวิจัยเชิงคุณภาพ ระยะเวลาในการศึกษา ตั้งแต่ ตุลาคม 2556-กันยายน 2557 ผลการวิจัยในแต่ละโครงการวิจัยย่อย พบว่า 1. การพัฒนาสารสนเทศด้านสุขภาพผู้สูงอายุ พบว่า 1) สถานการณ์และปัญหาของระบบ ข้อมูลสุขภาพผู้สูงอายุ ได้แก่ การจัดเก็บข้อมูลที่หลากหลาย และมีหลายหน่วยงานที่รับผิดชอบ การ เก็บข้อมูลเป็นลักษณะการส่งต่อข้อมูลจากหน่วยย่อยไปสู่ส่วนกลาง ไม่ได้มีฐานข้อมูลที่หน่วยงาน ตนเองสามารถสืบค้นหรือนำมาใช้ในการวางแผนหรือประเมินผลงานได้ บัญชีรายงานมีจำนวนมาก เป็นภาระของผู้จัดเก็บ เทคโนโลยีในการจัดเก็บไม่พียงพอ 2) ความต้องการระบบสารสนเทศ ได้แก่ การมีข้อมูลบริการแก่ผู้สูงอายุหรือผู้ให้บริการตามความจำเป็นและเหมาะสมกับบริบท ข้อมูลมีความถูกต้อง รวดเร็ว ทันเวลาและได้มาตรฐานสามารถเชื่อถือได้ สามารถเข้าถึงได้ง่ายโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในภาคตะวันออกควรมีศูนย์กลางบริการข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพของผู้สูงอายุในภาคตะวันออกเพื่อสามารถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ได้ 3) การพัฒนาระบบฐานข้อมูลสุขภาพผู้สูงอายุในภาคตะวันออก ประกอบด้วย 1.ฐานข้อมูลด้านระบบบริการสุขภาพผู้สูงอายุในภาคตะวันออก 2.ฐานข้อมูล สถานการณ์สุขภาพผู้สูงอายุในภาคตะวันออก และ 3.ฐานข้อมูลด้านพฤติกรรมสุขภาพของผู้สูงอายุในภาคตะวันออก 2. รูปแบบการสร้างเสริมสุขภาพผู้สูงอายุโดยใช้การมีส่วนร่วมของชุมชน พบว่า กระบวนการส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุในชุมชนนั้น จะต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของชุมชน และกระบวนการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องต่อเนื่องกันเพื่อดูแลสุขภาพประชาชน เช่น แนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาสุขภาพภาคประชาชน แนวคิดเกี่ยวกับสุขภาพ แนวคิดการสร้างพลังอำนาจ และแนวคิดการทำงานโดยอาศัยภาคเครือข่าย 3. การพัฒนารูปแบบการดูแลภาวะโภชนาการในผู้สูงอายุ คือ การให้ความรู้ด้านโภชนาการ เพื่อการดูแลตนเองอย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ควบคู่ไปกับการออกกำลังกาย 4. เมื่อเปรียบเทียบรูปแบบการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุในประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น มีความเหมือนกันเป็นส่วนใหญ่ เช่น มีนโยบายการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว การดูแลผู้สูงอายุโดยครอบครัวและ ชุมชน สวัสดิการสำหรับผู้สูงอายุ แนวปฏิบัติที่ดี/สถาปัตยกรรม/สิ่งประดิษฐ์ สำหรับผู้สูงอายุแต่มีความแตกต่างกันในรายละเอียดบางอย่าง เช่น มาตรการในการดูแลผู้สูงอายุในญี่ปุ่นจะเหมือนกันทั้งภาครัฐและเอกชน การดูแลผู้สูงอายุจะมีบริบททางวัฒนธรรมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยการดูแลผู้สูงอายุโดย ครอบครัวและชุมชนในประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่นมีการดำเนินการที่จะลดการพึ่งพิงของผู้สูงอายุและพยายามให้ผู้สูงอายุได้พึ่งตนเองได้ในขณะเดียวกันจากจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้นและผู้สูงอายุที่มีอายุยืนนานขึ้น ซึ่งจำเป็นต้องมีระบบการดูแลระยะยาวสำหรับผู้สูงอายุ ที่ชัดเจนมากขึ้น ดังนี้ 1)ใช้ครอบครัวและชุมชนเป็นฐานในการดูแล มีสังคมของผู้สูงอายุได้ทำกิจกรรมร่วมกัน 2)มีการดูแลในวิถีชีวิตประจำวัน การดูแลอนามัยพื้นฐาน 3) มีการจัดอบรม อาสาสมัครเพื่อการดูแล ผู้สูงอายุ และ 5) มีเครือข่ายในการดูแลผู้สูงอายุ 5. การเตรียมความพร้อมของผู้สูงอายุและครอบครัวสู่การตายอย่างสงบที่บ้าน ตามบริบทของภูมิภาคตะวันออก ของไทย มี ความหาย 2 แบบ คือ 1) ผู้ที่เจ็บป่วยที่บ้าน และมีอาการทรุดลง ก่อนเสียชีวิต 2) ผู้ที่รักษาที่โรงพยาบาลไม่ได้แล้ว ต้องมาดูแลเพื่อเสียชีวิตที่บ้าน การตายอย่างสงบที่บ้าน หมายถึง การตายที่หมดอายุขัย และจากไปแบบไม่ทรมาน การตายที่สงบและอบอุ่น ณ บ้านของตนเอง การตายที่ไม่รบกวนลูกหลาน การตายที่มีลูกหลานมาอยู่รอบข้าง และการตายตามธรรมชาติที่ทำให้ลูกหลานมีความสุข สบายใจ ความต้องการของผู้สูงอายุที่อยู่ในระยะสุดท้ายของชีวิต มี 2 ข้อ ได้แก่ 1) การทำบุญก่อนจากไป 2) การมีโอกาสได้สั่งเสียลูกหลาน การเตรียมผู้สูงอายุและญาติ เพื่อให้ผู้สูงอายุตายอย่างสงบ ควรประกอบไปด้วย องค์ประกอบ 7 ข้อ ดังต่อไปนี้ 1.การที่ลูกหลาน อยู่เคียงข้างตลอดเวลา 2. การมีเสียงพูดบอกนำทางก่อนสิ้นใจ 3.การช่วยให้ได้ทำบุญที่บ้าน 4.การที่ ลูกหลานช่วยให้หมดความห่วงกังวล 5.การดูแลความสุขสบาย คอยช่วยเหลือกิจวัตรประจำวัน 6.การ ที่ลูกหลานทำให้ตามที่รับปากไว้ 7.การจัดเตรียมสิ่งของตามความเชื่อไว้ให้ก่อนการตาย 6. การเตรียมความพร้อมของผู้สูงอายุและครอบครัวสู่การตายอย่างสงบที่โรงพยาบาล ตามบริบทของภาคตะวันออก ของไทย พบว่า 1) ในทัศนะของผู้สูงอายุ มีความต้องการการดูแล ในระดับ มากที่สุด ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับจิตใจและและเสริมสร้างคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เช่น การต้องการให้ครอบครัวยอมรับการตายของตนไม่เศร้าเสียใจมาก การต้องการให้อภัยและขอบคุณผู้คน การขอจากไปโดยแวดล้อมท่ามกลางคนที่ตนรัก และลูกหลาน 2) ทัศนะของญาติและสมาชิกในครอบครัว มีความต้องการการดูแลผู้สูงอายุด้านร่างกาย การป้องกันและแก้ปัญหารายบุคคลแก่ผู้สูงอายุรวมทั้งการได้รับข้อมูลเกี่ยวกับสุขภาพของผู้สูงอายุอย่างเพียงพอ 3) ทัศนะต่อการตายอย่างสงบที่โรงพยาบาลของผู้สูงอายุและครอบครัว มีทัศนะในเชิงบวก โดยเชื่อมั่นได้ว่าการตายนี้ได้รับการช่วยเหลืออย่างดีที่สุดแล้วจากแพทย์พยาบาลเพื่อให้มีชีวิตรอด โดยญาติและครอบครัวจะได้รับการช่วยเหลือดูแลหลังที่ตนเสียชีวิตแล้วจากบุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นผู้มีความรู้ มีจรรยาบรรณวิชาชีพ สภาพของผู้เสียชีวิตจะได้รับการปกป้องดูแลอย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และต้องการให้เพิ่มความใกล้ชิด เห็นอกเห็นใจ ให้ความยืดหยุ่นแก่ญาติและผู้ป่วยระยะสุดท้ายโดยให้ความดูแลอย่างเอื้ออาทร และผ่อนปรนกฎระเบียบลงบ้าง ควรมีการจัดสถานที่เฉพาะ มีความเป็นส่วนตัวสำหรับผู้ป่วยที่จะเสียชีวิตให้ญาติและครอบครัวมีโอกาสได้ล่ำลาเป็นครั้งสุดท้ายอย่างสมเกียรติและมีความเหมาะสม ควรมีการฝึกอบรมการใช้คำพูดและกิริยาที่แสดงความเคารพและให้เกียรติแก่ผู้เสียชีวิตและครอบครัว แพทย์ควรแจ้งพยากรณ์ของโรคและสื่อสาร ถ่ายทอดให้ผู้ป่วยและญาติรับรู้อย่างเข้าใจเพื่อสามารถเตรียมการได้อย่างมีสติก่อนที่ผู้ป่วยจะเสียชีวิตหรือใกล้เสียชีวิต
URI: http://dspace.lib.buu.ac.th/xmlui/handle/1234567890/1484
ปรากฏในกลุ่มข้อมูล:รายงานการวิจัย (Research Reports)

แฟ้มในรายการข้อมูลนี้:
ไม่มีแฟ้มใดที่สัมพันธ์กับรายการข้อมูลนี้


รายการทั้งหมดในระบบคิดีได้รับการคุ้มครองลิขสิทธิ์ มีการสงวนสิทธิ์เว้นแต่ที่ระบุไว้เป็นอื่น