กรุณาใช้ตัวระบุนี้เพื่ออ้างอิงหรือเชื่อมต่อรายการนี้: https://buuir.buu.ac.th/xmlui/handle/1234567890/1082
ชื่อเรื่อง: รายงานการวิจัยและพัฒนาระบบเพื่อการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์จังหวัดชลบุรี กลุ่มผู้รับบริการปรึกษาและบริการด้านสุขภาพ
ผู้แต่ง/ผู้ร่วมงาน: จินตนา วัชรสินธุ์
มหาวิทยาลัยบูรพา. คณะพยาบาลศาสตร์
คำสำคัญ: บริการด้านสุขภาพ
สาขาวิทยาศาสตร์การแพทย์
โรคเอดส์ - - ไทย - - ชลบุรี - - วิจัย
วันที่เผยแพร่: 2553
สำนักพิมพ์: คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
บทคัดย่อ: บทสรุปผู้บริหาร ลักษณะปัญหาของกลุ่มเป้าหมาย การตีตราทางสังคมและการแบ่งแยกผู้ติดเชื้อ/ผู้ป่วยเอดส์เป็นอุปสรรค์ขัดขวางการเข้าถึงการตรวจเลือดหาเชื้อเอชไอวีและการปรึกษาของประชาชนกลุ่มเสี่ยง การรักษาและการบริการสุขภาพสำหรับผู้ติดเชื้อ/ผู้ป่วยเอดส์ รวมถึงการพัฒนาคุณภาพบริการสุขภาพ ซึ่งการตีตราทางสังคมและการแบ่งแยกผู้ติดเชื้อ/ผู้ป่วยเอดส์เป็นปัญหาที่พบทั่วไปในระดับบุคคล สังคมและชุมชน มีสาเหตุมาจากความกลัวการติดเชื้อจากการสัมผัสปกติ กลัวการถูกตำหนิ การตัดสินคุณค่าและการทำให้อาย จึงจำเป็นต้องปรับรูปแบบการดำเนินงานเอดส์ในโรงพยาบาลหรือสถานบริการสุขภาพเพื่อช่วยเพิ่มการเข้าถึงการตรวจเลือดหาเชื้อเอชไอวี การรักษาด้วยยาต้านไวรัส การรักษาสุขภาพแบบองค์รวม การป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ติดเชื้อ/ผู้ป่วยเอดส์ การพัฒนาสมรรถนะผู้ที่เกี่ยวข้อง กิจกรรมโครงการควรเน้นการลดความกลัว การเพิ่มความตระหนัก การป้องกัน universal precaution และวัดผลที่เกิดจากโครงการ เช่น ความรู้เกี่ยวกับการติดเชื้อเอชไอวี ทัศนคติต่อผู้ติดเชื้อ พฤติกรรมการรังเกียจ การรับรู้การตีตราทางสังคมและการแบ่งแยก ดังนั้นการดำเนินการรูปแบบบริการที่มีประสิทธิภาพ (Effective Intervention) จึงควรทำความเข้าใจถึงปัญหาความต้องการ และศักยภาพของผู้ติดเชื้อและเจ้าหน้าที่สุขภาพโดยการสัมภาษณ์เชิงลึกและการสังเกตการบริการสุขภาพเพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานในการบริการสุขภาพที่เป็นมิตรกับผู้ติดเชื้อ/ผู้ป่วยเอดส์ (Friendly health service for people living with HIV/AIDS) ที่สอดคล้องกับบริบทของผู้ให้บริการสุขภาพที่เป็นมิตรกับผู้ติดเชื้อ/ผู้ป่วยเอดส์และการพัฒนาตัวชี้วัดในการติดตามประเมินผลสำหรับโรงพยาบาลหรือสถานบริการสุขภาพ เขตจังหวัดชลบุรี สัมฤทธิ์ผลของโครงการ โครงการนี้ศึกษามาจากเอกสารงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง การระดมและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและประสบการณ์ ระหว่างผู้ปฏิบัติงานด้านเอดส์จำนวน 26 คน ประกอบด้วยนักวิชาการสาธารณสุข นักสังคมสงเคราะห์ อาจารย์ด้านพยาบาลศาสตร์และเภสัชศาสตร์ พยาบาลวิชาชีพ และผู้ติดเชื้อเอชไอวีผู้ป่วยเอดส์ จากมหาวิทยาลัยของรัฐ โรงพยาบาลของรัฐและเอกชน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด องค์กรศาสนา ชมรมผู้ติดเชื้อ มูลนิธิช่วยเหลือเด็กและสตรี ศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ และองค์กรเอกชนในจังหวัดชลบุรี รูปแบบการให้บริการสุขภาพที่สังเคราะห์ได้ในการศึกษานี้คือรูปแบบการบริหารสุขภาพที่เป็นมิตรกับผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์และครอบครัว ซึ่งโครงสร้างประกอบด้วย 5 มิติหลัก และ 4 มิติย่อย ดังนี้ 1. การเข้าถึงบริการสุขภาพ (Access to Care Services) 2. การตรวจเลือดและการให้บริการปรึกษา (Testing and Counseling) 3. การเก็บรักษาความลับ (Confidentiality) 4. การควบคุมการติดเชื้อ (Infection Control) 5. คุณภาพการดูแล (Quality of Care) ภายใต้แต่ละมิตินี้ประกอบไปด้วย 4 มิติย่อย คือ 1. การปฏิบัติ (การปฏิบัติการดูแลและพฤติกรรมของบุคลากรทางสุขภาพ) 2. การฝึกอบรม (การสร้างและคงไว้ซึ่งศักยภาพของบุคลากรในการปฏิบัติงานตามมาตรฐาน) 3. การประกันคุณภาพ (กลไกการติดตามและควบคุมการปฏิบัติที่ได้มาตรฐาน) 4. นโยบาย (กฎระเบียบของสถาบันและข้อปฏิบัติที่กระตุ้นให้เกิดการปฏิบัติที่เป็นมาตรฐาน) การดำเนินการต่อเนื่อง แนวปฏิบัติการดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์และครอบครัวตามรูปแบบการบริการสุขภาพที่เป็นมิตร เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์และครอบครัว และบุคลากรสุขภาพ 5 สาขา และอาสาสมัคร ประกอบด้วย แพทย์ พยาบาล นักเทคนิคการแพทย์ เภสัชกร นักสังคมสงเคราะห์ และอาสาสมัครผู้ติดเชื้อเอชไอวี โดยบุคลากรสุขภาพและอาสาสมัครที่ผ่านการอบรมแล้วให้บริการทั้งในและนอกสถานบริการสุขภาพ ซึ่งในสถานบริการสุขภาพให้บริการตั้งแต่ด่านแรก แผนกรับผู้มาบริการ แผนกให้บริการปรึกษา แผนกเจาะเลือด แผนกตรวจรักษา แผนกจ่ายยา และชมรมผู้ติดเชื้อ รูปแบบการบริการประกอบด้วยการให้ความรู้ประชาชนทั่วไปเกี่ยวกับการติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ให้บริการปรึกษาสำหรับกลุ่มเสี่ยง บริการตรวจเจาะเลือด บริการตรวจรักษา ให้ยาด้านไวรัส กลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน บริการเยี่ยมครอบครัวผู้ติดเชื้อโดยอาสาสมัคร และกรส่งต่อผู้ติดเชื้อไปรับบริการด้านสังคมเศรษฐกิจจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือระบบส่งต่อจากชุมชนสู้สถานบริการสุขภาพ ข้อจำกัด รูปแบบการบริการสุขภาพที่เป็นมิตรเพื่อการดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์และครอบครัวยังไม่ได้ผ่านการทดลองใช้จริงตามบริบทของแต่ละหน่วยงานในจังหวัดชลบุรี เนื่องจากยังขาดการสนับสนุนทั้งด้านนโยบายละงบประมาณ จึงยังไม่สามารถเข้าถึงปัญหาอุปสรรคในการปฏิบัติการได้อย่างไรก็ตามรูปแบบนี้เป็นรูปแบบที่เคยใช้มาแล้วได้ผลในบริบทอื่น ข้อเสนอแนะ 1. โรงพยาบาลหรือหน่วยบริการสุขภาพควรพัฒนาระบบริการสุขภาพที่เป็นมิตรเพื่อการดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์และครอบครัวที่เน้นการเข้าถึงบริการสุขภาพ การตรวจเลือด และการให้บริการปรึกษา การเก็บรักษาความลับ การควบคุมการติดเชื้อ และคุณภาพการดูแลผู้รับบริการ 2. โรงพยาบาลหรือหน่วยบริการสุขภาพควนปรับพฤติกรรมของบุคลากรทางสุขภาพสู่บริการที่เป็นมิตร การฝึกอบรมเพื่อการสร้างและคงไว้ซึ่งศักยภาพของบุคลากรในการปฏิบัติงานตามมาตรฐาน 3. โรงพยาบาลหรือหน่วยบริการสุขภาพควรบรรจุบริการสุขภาพที่เป็นมิตรเพื่อการดูแลผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์และครอบครัวไว้ในการประกันคุณภาพโรงพยาบาล โดยสร้างกลไกกการติดตามและควบคุมการปฏิบัติที่ได้มาตรฐาน 4. สาธารณสุขจังหวัดต้องประกาศนโยบายนี้และกำหนดกฎระเบียบของสถาบันและข้อปฏิบัติที่กระตุ้นให้เกิดการปฎิบัติที่เป็นมาตรฐาน และพัฒนาระบบส่งต่อผู้ติดเชื้อ/ผู้ป่วยเอดส์ของจังหวัด 5. โรงพยาบาลหรือหน่วยงานบริการสุขภาพกำหนดการทำงานร่วมกันระหว่างผู้ติดเชื้อเอชไอวี/ผู้ป่วยเอดส์และครอบครัว และบุคลากรสุขภาพ 5 สาขา และอาสาสมัคร ประกอบด้วย แพทย์ พยาบาล นักเทคนิคการแพทย์ เภสัชกร นักสังคมสงเคราะห์ และอาสาสมัครผู้ติดเชื้อเอชไอวี
URI: http://dspace.lib.buu.ac.th/xmlui/handle/1234567890/1082
ปรากฏในกลุ่มข้อมูล:รายงานการวิจัย (Research Reports)

แฟ้มในรายการข้อมูลนี้:
แฟ้ม ขนาดรูปแบบ 
2567_104.pdf3.43 MBAdobe PDFดู/เปิด


รายการทั้งหมดในระบบคิดีได้รับการคุ้มครองลิขสิทธิ์ มีการสงวนสิทธิ์เว้นแต่ที่ระบุไว้เป็นอื่น