Abstract:
หญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะเบาหวานเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะสุขภาพมารดาและทารก ดังนั้น จึงอาจส่งผลต่อคุณภาพชีวิต การวิจัยครั้งนี้เป็นวิจัยเชิงความสัมพันธ์เพื่อศึกษาคุณภาพชีวิตในมิติสุขภาพ และปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับคุณภาพชีวิตในมิติสุขภาพของหญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะเบาหวาน กลุ่มตัวอย่างเป็นหญิงตั้งครรภ์ที่ภาวะเบาหวาน ที่มารับบริการที่แผนกฝากครรภ์ในโรงพยาบาลรัฐบาล เขตภาคเหนือตอนบน จำนวน 150 คน เครื่องมือวิจัยประกอบด้วย แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคลและข้อมูลทางสูติศาสตร์ แบบวัดคุณภาพชีวิต SF-12 เวอร์ชั่น 2 แบบสอบถามการจัดการตนเอง และแบบสอบถามการสนับสนุนทางสังคม วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนา สถิติสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สัน สถิติสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบสเปียร์แมน และสถิติสัม ประสิทธิ์สหสัมพันธ์พอยท์ไบซีเรียล ผลวิจัยพบว่า คุณภาพชีวิตในมิติสุขภาพมีค่าเฉลี่ย 66.86 ซึ่งอยู่ในระดับดี ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับคุณภาพชีวิตในมิติสุขภาพอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ได้แก่ อายุ (r= .172, p< .05) ระดับน้ำตาลในเลือด (r= -.209, p< .05) การจัดการตนเองด้านสุขภาพ (r= .438, p< .01) และการสนับสนุนทางสังคม (r= .414, p< .01) ส่วนระดับการศึกษา (r= -.030, p= .72) รายได้ (r= -.091, p< .27) และชนิดของภาวะเบาหวาน (r= -.031, p= .71) ไม่มีความสัมพันธ์กับคุณภาพชีวิตในมิติสุขภาพอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ผลการศึกษาครั้งนี้เสนอแนะให้พยาบาลประเมินปัจจัยเหล่านี้ระหว่างที่หญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะเบาหวานมาฝากครรภ์และควรมีการจัดกิจกรรมการส่งเสริมความรู้แก่หญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะเบาหวาน และเปิดโอกาสให้ครอบครัวเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมการดูแลรักษาต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมให้หญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะเบาหวานมีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น