Abstract:
มลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมหนัก มีผลเสียต่อสุขภาพทั้งสตรีตั้งครรภ์และทารกในครร์สตรีตั้งครรภ์ที่อาศัยอยู่ในเขตอุตสาหกรรมหนักจึงควรมีพฤติกรรมการป้องกันมลพิษที่เหมาะสม การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงทำนายมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพฤติกรรมในระยะตั้งครรภ์เกี่ยวกับการป้องกันมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมหนัก ในเขตควบคุมมลพิษมาบตาพุด จังหวัดระยอง และศึกษาผลของปัจจัยที่เกี่ยวข้องต่อพฤติกรรมดังกล่าวกลุ่มตัวอย่างเป็นสตรีพักฟื้นหลังคลอดที่โรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีระยอง ผ่านเกณฑ์การคัดเข้าร่วมการศึกษาได้มาด้วยการเลือกแบบสะดวก จำนวน 130 ราย เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม และแบบบันทึกข้อมูลส่วนบุคคลแบบสอบถามการรับรู้โอกาสเสี่ยงเกี่ยวกับมลพิษ แบบสอบถามการรับรู้อุปสรรคต่อการป้องกันมลพิษ แบบสอบถามความรู้เกี่ยวกับการป้องกันมลพิษ และแบบสอบถามพฤติกรรมการป้องกันมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรมหนักวิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนา และสถิติถดถอยพหุคูณแบบมาตรฐาน (Standard multiple regression) ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มตัวอย่าง มีพฤติกรรมการป้องกันมลพิษฯ ในระยะตั้งครรภ์โดยรวมอยู่ในระดับเหมาะสมมาก (Possible range = 12-49, M = 43.15, SD = 3.72) จากการวิเคราะห์ด้วยสถิติถดถอยพหุคูณแบบมาตรฐานพบว่า อาชีพ ระยะเวลาที่อาศัยในเขตควบคุมมลพิษมาบตาพุด การรับรู้โอกาสเสี่ยงเกี่ยวกับมลพิษ การรับรู้อุปสรรคต่อการป้องกันมลพิษ และความรู้เกี่ยวกับการป้องกันมลพิษร่วมกันอธิบายพฤติกรรมการป้องกันมลพิษในระยะตั้งครรภ์ได้ 31.7% (R 2 = .317, F8,121= 7.01, p< .001) อย่างไรก็ตามมีปัจจัยเพียง 3 ปัจจัยมีผลต่อพฤติกรรมการป้องกันมลพิษ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เรียงลำดับตามค่าอิทธิพลของปัจจัยต่อพฤติกรรมการป้องกันมลพิษจากมากไปน้อย คือ อาชีพเป็นพนักงานโรงงานอุตสาหกรรม (Beta = 0.30, p= .01) การรับรู้อุปสรรคต่อการป้องกันมลพิษ (Beta = -0.23, p= .01) และความรู้เกี่ยวกับการป้องกันมลพิษ (Beta = 0.20, p= .02) จากผลการวิจัยได้ข้อเสนอแนะว่า พยาบาลแผนกฝากครรภ์ควรประเมินสตรีตั้งครรภ์ที่อาศัยอยู่ในเขตควบคุมมลพิษจากอุตสาหกรรมหนักเกี่ยวกับอาชีพ การรับรู้อุปสรรคต่อการป้องกันมลพิษฯ และความรู้เกี่ยวกับการป้องกันมลพิษ เพื่อเป็นแนวทางในการส่งเสริมให้สตรีตั้งครรภ์มีพฤติกรรมการป้องกันมลพิษในระยะตั้งครรภ์อย่างเหมาะสม