Abstract:
การศึกษาในครั้งนี้เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1. ศึกษาความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายหลังจากการจัดตั้งพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษในจังหวัดสระแก้ว 2. ศึกษาปัญหาความขัดแย้งในเรื่องของที่ดินในบริเวณที่เกิดความเปลี่ยนแปลง 3. หาข้อเสนอแนะ หรือแนวทางแก้ไขปัญหาเรื่องที่ดิน โดยเก็บรวบรวมข้อมูลจากเอกสารที่เกี่ยวข้องการสังเกตแบบมีส่วนร่วมและแบบไม่มีส่วนร่วมตลอดจน การสัมภาษณ์เจาะลึกจากกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียทั้งหน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และจากชุมชนในบริเวณที่เกิดการพัฒนาเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนจังหวัดสระแก้ว จากการศึกษาพบว่า 1. ผลจากการดำเนินงานตามนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษได้มีการพัฒนาพื้นที่ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม จัดหาแรงงาน และให้สิทธิประโยชน์ในด้านการลงทุน เพื่อเตรียมความพร้อมสนับสนุนการดำเนินงานของภาคเอกชน ได้ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างมาก และอาจสร้างผลกระทบให้เกิด ความเปลี่ยนแปลงขึ้นอีกในอนาคตทั้งทางด้านบวกทำให้เศรษฐกิจในท้องถิ่นเจริญเติบโต สร้างอาชีพ และเพิ่มรายได้ให้กับประชาชนในพื้นที่ และผลทางด้านลบเกิดความแออัดในชุมชน ปัญหาทางสังคมที่เพิ่มขึ้น ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ สภาพแวดล้อมเสื่อมโทรมจากมลพิษทางอุตสาหกรรม และการำนำไปใช้ประโยชน์อย่างไม่คุ้มค่า 2. ความขัดแย้งในเรื่องที่ดินที่เกิดขึ้นจาการจัดทำผังเมืองและการแบ่งเขตสีที่ดินไม่สอดคล้องต่อวิถีชีวิตของชาวบ้าน และการเวนคืนพื้นที่ป่าชุมชนซึ่งเป็นที่ดินสาธารณะประโยชน์ไปใช้ในการพัฒนาได้สร้างความไม่พอใจให้กับชาวบ้านในพื้นที่ถือเป็นการพรากสิทธิ์ในที่ดินทำกินของตนเอง ถูกลิดรอนสิทธิจนต้องกลายเป็นผู้เสียผลประโยชน์จนเกิดการร่วมตัวกันของชาวบ้านออกมาต่อต้าน คัดค้านการดำเนินนโยบายของรัฐ 3. ทางรัฐบาลจึงควรให้ความความเข้าใจแก่ประชาชน เปิดโอกาสให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาจัดสรรที่ดิน และออกเอกสารสิทธิ์ให้กับประชาชนอย่างถูกต้องพร้อมทั้งส่งเสริมการพัฒนาทางด้านเกษตรกรรมซึ่งเป็นอาชีพหลักของคนในชุมชน และการพัฒนาทางด้านอุตสาหกรรมควบคู่กันไปเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ทุกฝ่าย ช่วยลดปัญหาความขัดแย้ง และเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามมา