Abstract:
การวิจัยเรื่องเศรษฐศาสตร์การเมืองของฟุตบอลไทย มีวัตถุประสงค์ในการศึกษา คือ เพื่อศึกษาประวัติศาสตร์ของฟุตบอลไทยผ่านการวิเคราะห์แนวเศรษฐศาสตร์การเมืองและเพื่อศึกษาสัญญะของฟุตบอลไทยผ่านการวิเคราะห์ทางประวัติศาสตร์แนวเศรษฐศาสตร์การเมืองโดยเป็นการวิจัยเชิงคุณภาพในแนวประวัติศาสตร์โดยศึกษาในลักษณะของการวิเคราะห์ทางประวัติศาสตร์แนวเศรษฐศาสตร์การเมือง ใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพในการรวบรวมข้อมูล โดยใช้เครื่องมือสำหรับรวบรวมข้อมูลด้วย 2 วิธีการ คือ วิธีการศึกษาจากเอกสาร และจากผู้ให้ข้อมูลสำคัญ โดยการสัมภาษณ์เชิงลึก การศึกษาพบว่า ฟุตบอลไทยสามารถแบ่งได้เป็น 4 ยุค ตามพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ ได้แก่ ยุคแรกยุคปฐมบทฟุตบอลไทย ภายใต้รัฐสมบูรณาญาสิทธิ์ พ.ศ. 2443- 2475 ที่มีเรื่องของการใช้สัญญะที่สะท้อนเป็นวาทกรรมที่เป็นการครองอำนาจนำในการสถาปนากีฬาฟุตบอลให้เกิดขึ้นในสยาม กล่าว คือ รัชกาลที่ 6 โปรดให้ก่อตั้ง “สมาคมฟุตบอลแห่งกรุงสยาม” ภายใต้พระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2459 เพื่อส่งเสริมให้ผู้ชายหันมาเล่นกีฬามากขึ้น และตั้งทีมชาติฟุตบอล “คณะฟุตบอล สำหรับชาติสยาม” เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2468 การพระราชทานตราพระมหาพิชัยมงกุฎให้กับทีมชาติสยาม เพื่อประดับบนเสื้อทีมชาติและหมวกสำหรับนักกีฬาทีมชาติโดยเฉพาะอันเป็นการใช้สัญญะทางวัตถุที่สะท้อนการเป็นภาพตัวแทนของสถาบันกษัตริย์ที่พระราชทานให้กับตัวแทนของชาติซึ่งชาติก็คือ สถาบันกษัตริย์และยุติบทบาททางสัญญะเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ต่อมาในยุคที่สองยุคสองฟุตบอลสมัครเล่น ภายใต้รัฐประชาธิปไตยหลังสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ พ.ศ. 2475-2538 ที่นักกีฬาฟุตบอลยังไม่สามารถดำรง อาชีพนักเตะได้เพียงอย่างเดียวต้องมีอาชีพหลักที่มีรายได้มั่นคงประกอบการเป็นนักฟุตบอลและอยู่ภายใต้วาท กรรมในการสร้างชาติรัฐนิยมเพื่อลดทอนอำนาจของกษัตริย์โดยมีสัญญะธงชาติโล่ เหรียญตราของรัฐบาล มีการ ใช้ธงไตรรงค์แทนตราพระมหาพิชัยมงกุฎ และสมาคมฟุตบอลที่พยายามต่อสู้แย่งชิงการครองอำนาจนำใน บทบาทของการเมืองวัฒนธรรมกีฬาฟุตบอลโดยมีการฟื้นฟูความนิยมของสถาบันกษัตริย์โดยการจัดแข่งขันชิง ถ้วยพระราชทาน ค และ ง เพิ่มเติมจากถ้วย ก และ ข ในสมัยรัชกาลที่ 6 มีการจัดแข่งขันชิงถ้วยพระราชทาน คิงสคัพและควีนคัพจนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสู่ยุคที่สาม ยุคสามฟุตบอลสมัครเล่นสู่ลีกกึ่งอาชีพ พ.ศ. 2539- 2551 ที่มีการเปลี่ยนรูปแบบการแข่งขันฟุตบอลที่มีสปอนเซอร์จากภาคเอกชนเข้ามาจัดการแข่งขันเต็มรูปแบบสู่ ยุคที่สี่ ยุคฟุตบอลอาชีพภายใต้ธุรกิจการกีฬาสากล พ.ศ. 2552-2561 ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก FIFA และมีการใช้กติกาของ AFC ที่สโมสรฟุตบอลต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล มีการเปลี่ยนถ้วยรางวัลตามแบบของเอกชนที่เป็นสปอนเซอร์เข้ามายกเลิกถ้วยพระราชทาน มีการใช้ตราสัญลักษณ์ทีมชาติเปลี่ยนจากธงชาติเป็นตราช้างศึกและนักฟุบอลเป็นอาชีพที่มีรายได้สูงรวมทั้งได้ถูกทำให้กลายเป็นสินค้าที่มีมูลค่าการซื้อขายมากขึ้น มากกว่าการเป็นนักเตะที่รับค่าจ้างเพียงแค่รายเดือน นับเป็นสัญญะที่เข้ามาสร้างวาทกรรมใหม่ในเรื่องของธุรกิจ การกีฬาที่สร้างการครองอำนาจนำในวงการฟุตบอลได้จนถึงปัจจุบัน