Abstract:
การศึกษาเรื่องการปรับตัวของชาวนามุสลิมในพื้นที่กรุงเทพมหานครรอบนอกฝั่งตะวัรออก (หนองจอกคลองสามวาและมีนบุรี) มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยและเงื่อนไขที่มีต่อพลวัตของชาวนามุสลิม กลไกการปรับตัว และนำเสนอทางเลือกในการปรับตัว ผลการศึกษาพบว่า ชาวนามุสลิมมีปัจจัยและเงื่อนไขสำคัญ 6 เงื่อนไขประกอบไปด้วย 1. อิทธิพลของระบบตลาด ภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมส่งผลให้ชาวนาสูญเสียที่นาและที่อยู่อาศัย 2. สถานการณ์การแตกตัวทางชนชั้นที่ส่งผลให้เกิดการคลายตัวของแรงยึดเหนี่ยวภายในชุมชน โดยแบ่งกลุ่มชาวนา ออกเป็นสองกลุ่ม คือ ชาวนาที่สามารถรักษาปัจจัยการผลิตเอาไว้ ได้แก่ และชาวนาที่ไม่สามารถรักษา ปัจจัยการผลิตเอาไว้ได้ 3. บทบาทและกลไกของรัฐที่ทำให้ชาวนาต้องพึ่งพาภาครัฐและไม่พัฒนา คุณภาพการผลิต 4. ความต้องการในการสืบทอดอาชีพของบรรพบุรุษที่สามารถพบได้สองกลุ่ม คือ กลุ่มชาวนาสูงวัยและชาวนารุ่นใหม่ 5. หลักการของศาสนาอิสลามในเรื่องการไม่ยึดติดในทรัพย์สิน และการรวมกลุ่มในชุมชน 6. การขยายตัวของเมืองที่ส่งผลให้พื้นที่เกษตรกรรมลดลง สำหรับกลไกการปรับตัวประกอบไปด้วย 1.การสร้างนวัตกรรมจากรากหญ้าอันเป็นภูมิปัญญาของคนในชุมชน 2. การปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตสู่การพึ่งตนเองโดยมีแนวคิดพื้นฐานที่สำคัญจาก 2 อุดมการณ์ คือ แนวคิดอนาธิปัตย์นิยมและแนวคิดศาสนนิยม 3.การรวมกลุ่มเพื่อต่อรองกับระบบตลาดโดยมีรูปแบบการก่อตัวของการเงินชุมชน การก่อตั้งสหกรณ์อิสลาม การรวมกลุ่มวิสาหกิจชุมชน และการรวมกลุ่มของสตรี 4. การประกอบธุรกิจและหารายได้เพิ่มเติมนอกภาคการเกษตร ส่วนทางเลือกในการปรับตัวของชาวนามุสลิม ประกอบไปด้วย 1. การปรับตัวภายใต้วิถีการผลิตแบบทุนนิยม มี 2 ลักษณะ คือ การเปลี่ยนรูปไปเป็นชาวนาเช่าและการปรับวิถีการผลิตบนที่ดินของตนเอง 2. การปรับเปลี่ยนสู่แนวทางอนาธิปัตย์นิยม เช่น การรวมกลุ่มกัน เพื่อสร้างเครือข่ายในการปรับเปลี่ยน วิถีชีวิตสู่การพึ่งตนเองการยึดแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงด้วยวิธีการพัฒนารูปแบบการทำเกษตรผสมผสาน 3. การพัฒนาตามแนวคิดวัฒนธรรมชุมชน ได้แก่ การจัดการปัญหาหนี้สินด้วยระบบสหกรณ์อิสลาม การเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่ทุนมนุษย์ทุนทางสังคม และทุนทางวัฒนธรรม