Abstract:
การศึกษาครั้งนี้ มุ่งศึกษาปัญหาและแนวทางการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนของนักเรียนโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ชลบุรี ปีการศึกษา 2562 กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ นักเรียนโรงเรียนวิทยาศาสตร์ จุฬาภรณราชวิทยาลัย ชลบุรี จำนวน 76 คน กำหนดขนาดกลุ่มตัวอย่างตามตารางของ Krejcie and Morgan (1970) ใช้วิธีการสุ่มแบบแบ่งชั้น เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถามมาตราส่วน (Rating scale)
5 ระดับ มีค่าอำนาจจำแนกรายข้ออยู่ระหว่าง .44-.83 และมีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับ .99 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ( ) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (SD) ทดสอบสมมติฐานค่าที (t-test) และการวิเคราะห์ ค่าความแปรปรวนทางเดียว (One-way ANOVA)
ผลการวิจัย พบว่า
1. ปัญหาการจัดการเรียนการสอนของนักเรียนโรงเรียนวิทยาศาสตร์จุฬาภรณราชวิทยาลัย ชลบุรี สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 18 โดยรวมและรายด้าน อยู่ในระดับปานกลาง
2. เปรียบเทียบระดับปัญหาการจัดการเรียนการสอนของนักเรียนโรงเรียนวิทยาศาสตร์ จุฬาภรณราชวิทยาลัย ชลบุรี สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 18 จำแนกตามเพศ และอาชีพของผู้ปกครอง โดยรวมและรายด้านแตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ
3. แนวทางการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนของนักเรียนโรงเรียนวิทยาศาสตร์ จุฬาภรณราชวิทยาลัย ชลบุรี สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 18 ด้านหลักสูตรสถานศึกษา เนื้อหาวิชาเรียนควรเจาะลึกและมีเนื้อหาที่ละเอียดมากขึ้น มีความทันสมัยต่อเหตุการณ์และสถานการณ์ปัจจุบัน ต้องการให้เน้นและเพิ่มเติมความรู้ที่จำเป็นที่ต้องใช้ในการสอบวัดผลระดับชาติ ปรับตัวชี้วัดให้มีความสอดคล้องต่อเนื่องกันตลอดปีการศึกษา ด้านการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ควรจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่นักเรียนและครูได้ปฏิบัติร่วมกัน เพิ่มความหลากหลายของกิจกรรมและเป็นกิจกรรมที่น่าสนใจ ลดความเข้มข้น ในคาบเรียนและเพิ่มเวลาให้นักเรียนได้สืบค้นด้วยตนเองมากขึ้น ด้านสื่อการเรียนการสอน นวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการศึกษา ควรใช้สื่อการเรียนการสอนที่มีความหลากหลาย น่าสนใจและมีความทันสมัย ใช้เทคโนโลยีเข้ามามีส่วนช่วยในการจัดการเรียนการสอน ใช้สื่อการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพได้มาตรฐานเทียบเท่าระดับนานาชาติ ด้านการวัดผลและประเมินผล ควรมีความสอดคล้องกับเนื้อหาที่สอน มีระดับ ความยากง่ายของแบบทดสอบตั้งแต่ง่ายไปหายาก นำผลการวัดมาใช้ในการพัฒนาปรับปรุงนักเรียนเป็นรายบุคคลและมีการแจ้งผลคะแนนและระดับการพัฒนาเสมอ