Abstract:
การวิจัยกึ่งทดลอง (Quasi-experimental research) แบบสอบกลุ่มนี้ ศึกษาผลของโปรแกรมการอบรมเชิงปฏิบัติการแบบกระบวนการมีส่วนร่วมต่อความรู้และความตระหนักเกี่ยวกับการสุขาภิบาลอาหารของผู้สัมผัสอาหาร กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้สัมผัสอาหารในร้านอาหารเขตเทศบาลนครนครปฐม กลุ่มทดลองและกลุ่มเปรียบเทียบ กลุ่มละ 30 คน โดยกลุ่มเปรียบเทียบไม่ได้รับการอบรมหรือให้ความรู้ใด ๆ ส่วนกลุ่มทดลองเป็นกลุ่มที่เข้าร่วมการอบรมเชิงปฏิบัติงานแบบกระบวนการมีส่วนร่วมเพื่อเสริมสร้างความรู้และความตระหนักเกี่ยวกับการสุขาภิบาลอาหารรวบรวมข้อมูลของทั้ง 2 กลุ่ม ก่อนและหลังการทดลอง วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนาและสถิติเชิงอนุมาน ผลการวิจัยพบว่า หลังการทดลอง กลุ่มทดลองมีคะแนนความรู้เฉลี่ยเพิ่มขึ้นมาก ร้อยละ 63.8 เป็นร้อยละ 82.4 พบว่า มีความรู้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่อย่างน้อย 0.05 ในขณะที่กลุ่มเปรียบเทียบ มีความรู้จากร้อยละ 58.5 ลดลงเป็นร้อยละ 56.9 ซึ่งมีความรู้ไม่แตกต่างกัน (p>0.05) โดยความรู้ของผู้สัมผัสอาหารกลุ่มทดลองและกลุ่มเปรียบเทียบแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่อย่างน้อย 0.05 และกลุ่มทดลองมีคะแนนความตระหนักเฉลี่ยจาก 39.87 เพิ่มขึ้นเป็น 46.67 คะแนน พบว่า มีความตระหนักเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่อย่างน้อย 0.05 ส่วนกลุ่มเปรียบเทียบ มีคะแนนความตระหนักเฉลี่ยจาก 33.67 ลดลงเป็น 33.53 คะแนน พบว่า มีความตระหนักเพิ่มขึ้นอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติที่ (p>0.05) ความตระหนักของผู้สัมผัสอาหารกลุ่มทดลองและกลุ่มเปรียบเทียบแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่อย่างน้อย 0.05