Abstract:
การศึกษาการพัฒนาอาหารกุ้งกุลาดำ Penaeus monodon โดยใช้กล้วยเป็นแหล่งคาร์โบไฮเดรตและสารเหนียว ผลการศึกษาพบว่าการเพิ่มกล้วยทดแทนคาร์โบไฮเดรตในอาหารมีผลต่อการเจริญเติบโต กุ้งที่ได้รับอาหารที่มีการใช้กล้วยต่อคาร์โบไฮเดรตในอัตรา 10:90 เปอร์เซนต์ หรือ 3 เปอร์เซนต์ในอาหาร มีการเจริญเติบโตสูงกว่ากุ้งที่ได้รับอาหารที่มีการใช้กล้วยต่อคาร์โบไฮเดรตในอัตรา 0:100 และ 20:80 เปอร์เซนต์ อย่างมีนัยสำคัญ (P<0.05) ในขณะที่กุ้งที่ได้รับอาหารที่มีการใช้กล้วยต่อคาร์โบไฮเดรตในอัตรา 10:90 เปอร์เซนต์ มีอัตราการรอดไม่แตกต่างจากกุ้งที่ได้รับอาหารที่ไม่มีการใช้กล้วยเป็นส่วนประกอบ แต่กุ้งที่ได้รับอาหารที่มีการใช้กล้วยต่อคาร์โบไฮเดรตในอัตรา 20:80 เปอร์เซนต์ มีอัตรารอดต่ำกว่ากุ้งอีก 2 ชุดทดลองอย่างมีนัยสำคัญ (P<0.05)
ผลการศึกษาการใช้กล้วยทดแทนสารเหนียวพบว่าสามารถใช้กล้วยประมาณ 3 เปอร์เซนต์โดยน้ำหนัก ผสมในอาหารกุ้งเพื่อทดแทนสารเหนียวได้โดยที่ไม่ทำให้คุณภาพของอาหารเปลี่ยนแปลง จากการทดสอบความคงตัวของอาหารกุ้งที่ไม่มีการใช้กล้วยทดแทนคาร์โบไฮเดรต และใช้สารเหนียว 1 เปอร์เซนต์ในอาหาร เปรียบเทียบกับอาหารกุ้งที่มีการใช้กล้วย 3 เปอร์เซนต์ และไม่มีการใช้สารเหนียว พบว่าปริมาณแอมโมเนียที่ละลายน้ำเฉลี่ยของอาหารที่แช่น้ำ 24 ชั่วโมง มีปริมาณไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ (P>0.05) กุ้งที่ได้รับอาหารที่มีการใช้กล้วย 3% เปอร์เซนต์ และมีการใช้สารเหนียวในอาหาร 0 และ 1 เปอร์เซนต์ มีอัตราการเจริญเติบโตและอัตราการรอดไม่แตกต่างกัน (p>0.05)
จากการศึกษาแสดงให้เห็นว่าการใช้กล้วยเป็นวัตถุดิบอาหารกุ้งในปริมาณที่เหมาะสมสามารถทำให้กุ้งมีการเจริญเติบโตที่ดีขึ้น ช่วยลดการใช้สารเหนียวในการประกอบอาหารกุ้งและลดต้นทุนการประกอบอาหารกุ้งได้