Abstract:
พื้นที่ อ. พนัสนิคม จ. ชลบุรี มีคน 3 เชื้อชาติอาศัยอยู่ร่วมกัน ได้แก่ ไทย ลาว จีน สำหรับ ชาวไทยเชื้อสายจีนนั้นเป็นกลุ่มสุดท้ายที่อพยพมาอยู่ที่นี่ การอยู่ร่วมกับเชื้อชาติอื่นจึงเป็นความจำเป็นที่จะต้องแสดงถึงเอกลักษณ์เพื่อแสดงถึงการดำรงอยู่ของกลุ่มตนรวมทั้งการสร้างอำนาจในการต่อรองในพื้นที่ มิติทางด้านวัฒนธรรม อย่างเช่น การแสดงเอ็งกอ จึงเป็นส่วนสำคัญที่ถูกเลือกสรรนำมาผลิตซ้ำเพื่อการสร้างและสืบทอดอัตลักษณ์ของคนไทยเชื้อสายจีน ผู้วิจัยจึงสนใจศึกษาว่าการสืบทอดเอ็งกอมีส่วนในการเสริมสร้างอัตลักษณ์ให้แก่คนไทยเชื้อสายจีนอย่างไร
ผู้วิจัยใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพในการศึกษา โดยสัมภาษณ์ผู้ที่เกี่ยวข้องในการสืบทอดรวมทั้งสังเกตการณ์ฝึกซ้อมและการแสดงเอ็งกอ โดยใช้แนวคิดเรื่องการผลิตซ้ำทางวัฒนธรรม อัตลักษณ์
ทางชาติพันธุ์และแนวคิดเรื่องต้นไม้แห่งคุณค่าเป็นแนวทางในการศึกษา
ผลการวิจัยพบว่า (1) ท่ามกลางกระแสโลกาภิวัตน์และนโยบายของรัฐชาติที่เน้นความเป็น “ไทย”
ทำให้คนไทยเชื้อสายจีนลดทอนอัตลักษณ์ด้านการเมือง เช่น การเปลี่ยนนามสกุล แบบไทย เข้าศึกษาในโรงเรียนไทย ใช้ภาษาไทยขณะที่ยังคงอัตลักษณ์ชาติพันธุ์ในมิติด้านวัฒนธรรม เช่น การเล่นเอ็งกอ (2) การสืบทอดเอ็งกอที่ยังคงอัตลักษณ์ชาติพันธุ์มีวิธีการสืบทอด 2 รูปแบบ ได้แก่ (2.1) การสืบทอดควบคู่กันทั้ง 2 แบบ ทั้งการสืบทอดในพื้นที่วัฒนธรรมของจีน เช่น ศาลเจ้าและงานประเพณี และการขยายพื้นที่ไปสืบทอดในโรงเรียนเพื่อเข้าถึงกลุ่มเยาวชนที่เป็นลูกหลานชาวไทย
เชื้อสายจีน (2.2) การขยายพื้นที่ไปแสดงในงานบุญกลางบ้านที่เป็นการสื่อสารอัตลักษณ์ไปถึงคนที่อยู่นอกชุมชนด้วย และ (3) การได้รับการสนับสนุนทั้งจากเทศบาล โรงเรียนและชุมชน รวมทั้งการได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภายนอกเป็นปัจจัยที่สำคัญในการสืบทอดเอ็งกอได้อย่างเข้มแข็ง
ถึงแม้ว่าเอ็งกอจะเป็นสื่อในการแสดงอัตลักษณ์ของคนไทยเชื้อสายจีน แต่เป็นอัตลักษณ์ที่ลื่นไหลไปตามบริบทแวดล้อม โดยมีอัตลักษณ์ทั้งสองแบบ แบบแรกคือการแสดงอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์จีน เพื่อแสดงถึงการดำรงอยู่และความภูมิใจในชาติพันธุ์ของตน ที่มิได้จะหมายข่มชาติพันธุ์อื่น แต่เป็นการประกาศถึงการดำรงอยู่ในลักษณะที่เท่าเทียมกันกับชาติพันธุ์อื่น ส่วนแบบที่สอง คือ อัตลักษณ์ในฐานะสื่อของชุมชนที่ไม่ได้หมายถึงเฉพาะคนไทยเชื้อสายจีนเท่านั้น