Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อ 1) เพื่อศึกษาความต้องการการพัฒนาตนเองของครูเอกชน กลุ่มสาระการงานพื้นฐานอาชีพและเทคโนโลยี โรงเรียนเอกชนสังกัดสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ 2) เพื่อเปรียบเทียบความต้องการพัฒนาตนเองของครูเอกชนโรงเรียนเอกชนสังกัดสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยจำแนกตามเพศ อายุ ระดับการศึกษา ประสบการณ์สอน และขนาดโรงเรียน ประชากรคือครูผู้สอนกลุ่มสาระการงานอาชีพและเทคโนโลยี ของโรงเรียนเอกชนสังกัดสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์จำนวน 213 คน โดยใช้แบบสอบถามแบบมาตราส่วนประมาณค่า และแบบตรวจสอบรายการเป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล ส่วนสถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ความเบี่ยงเบนมาตรฐาน ผลการวิจัยพบว่า 1. ความต้องการพัฒนาตนเองของครูเอกชน กลุ่มสาระการงานพื้นฐานอาชีพและเทคโนโลยี โรงเรียนเอกชนสังกัดสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก (µ = 4.42, SD = 0.23) และเมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่า มีความต้องการอยู่ในระดับมากทุกด้าน โดยเรียงลำดับคะแนนเฉลี่ยจากมากไปหาน้อยได้แก่ ด้านเงินเดือนและประโยชน์เกื้อกูลกัน ด้านความก้าวหน้า ด้านลักษณะของงาน ด้านความสำเร็จของงาน ด้านสภาพแวดล้อมในการทำงาน ด้านการยกย่องนับถือหรือการยอมรับ ด้านสัมพันธภาพกับผู้บังคับบัญชา ด้านความรับผิดชอบ ด้านนโยบายและการบริหาร และด้านสัมพันธภาพกับผู้ร่วมงาน ตามลำดับ 2. ผลการเปรียบเทียบความต้องการพัฒนาตนเองของครูเอกชน กลุ่มสาระการงานพื้นฐานอาชีพและเทคโนโลยี โรงเรียนเอกชนสังกัดสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ จำแนกตามเพศ พบว่า ค่าเฉลี่ยความต้องการในการพัฒนาตนเองของครูเอกชนเพศชาย (µ = 4.44) สูงกว่าครูเอกชนเพศหญิง (µ = 4.42) จำแนกตามระดับการศึกษา พบว่า ค่าเฉลี่ยความต้องการในการพัฒนาตนเองของครูเอกชนที่มีระดับการศึกษาสูงกว่าระดับปริญญาตรี (µ = 4.48)สูงกว่าครูเอกชนที่มีระดับการศึกษาในระดับปริญญาญาตรี (µ = 4.41) จำแนกตามประสบการณ์สอน พบว่า ค่าเฉลี่ยความต้องการของครูเอกชนที่มีประสบการณ์สอนน้อยกว่า 5 ปี (µ = 4.43) สูงกว่าครูเอกชนที่มีประสบการณ์ทำงานมากกว่า 5 ปี (µ = 4.42) เมื่อจำแนกตามอายุ พบว่า ค่าเฉลี่ยความต้องการในการพัฒนาตนเองของครูเอกชนที่มีช่วงอายุ 36-45 ปี (µ = 4.46) สูงกว่าช่วงอายุ 46 ปีขึ้นไป (µ = 4.45) ช่วงอายุ ต่ำกว่า 25 ปีขึ้นไป (µ = 4.40) และช่วงอายุ 26-35 ปี (µ = 4.39) ตามลำดับ และจำแนกตามขนาดโรงเรียน พบว่า ค่าเฉลี่ยความต้องการในการพัฒนาตนเองของครูเอกชนในโรงเรียนที่มีขนาดกลาง (µ = 4.46) สูงกว่าครูเอกชนในโรงเรียนที่มีขนาดใหญ่ (µ = 4.44) และ ครูเอกชนในโรงเรียนที่มีขนาดเล็ก (µ = 4.34) ตามลำดับ