Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาตัวบ่งชี้ภาวะผู้นำแบบครอบคลุมของผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาในภาคตะวันออก สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และ เพื่อตรวจสอบความสอดคล้องของโมเดลภาวะผู้นำแบบครอบคลุมที่พัฒนาขึ้นกับข้อมูลเชิงประจักษ์ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย คือ ผู้บริหารสถานศึกษาและรองผู้อำนวยการสถานศึกษาโรงเรียนมัธยมศึกษาในภาคตะวันออก จำนวน 400 คน ได้จากการสุ่มแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified random sampling) เครื่องมือที่ใช้เป็นแบบสอบถามมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ ข้อมูล ได้แก่ การหาค่าเฉลี่ย (Mean) ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard deviation) ค่าประสิทธิ์สหสัมพันธ์ (Correlation co-efficient) ค่าดัชนี KMO ค่าสถิติ Bartlett’s test of sphericity ค่าไคสแควร์ (Chi-square statistics) ค่าน้ำหนักองค์ประกอบ ค่าความคลาดเคลื่อน (RMSEA) ค่าดัชนีวัดระดับความกลมกลืน (GFI) ดัชนีค่าความกลมกลืนที่ปรับ (AGFI) ใช้วิเคราะห์องค์ประกอบเชิงยืนยัน เพื่อทดสอบความสอดคล้องของโมเดลตัวบ่งชี้ภาวะผู้นำแบบครอบคลุมของผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาที่พัฒนาขึ้นกับข้อมูลเชิงประจักษ์ ผลการวิจัย พบว่า ผู้นำแบบครอบคลุม มี 4 องค์ประกอบ 20 องค์ประกอบย่อย 98 ตัวบ่งชี้ ได้แก่ 1) ด้านความสัมพันธ์มี 5 องค์ประกอบย่อย 23 ตัวบ่งชี้ 2) ด้านความฉลาดทางวัฒนธรรม 5 องค์ประกอบย่อย 24 ตัวบ่งชี้ 3) ด้านรูปแบบและกลยุทธ์ในการตัดสินใจมี 5 องค์ประกอบย่อย 23 ตัวบ่งชี้ และ 4) ด้านการมีส่วนร่วม มี 5 องค์ประกอบย่อย 28 ตัวบ่งชี้ และการวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงยืนยัน พบว่า โมเดลมีความสอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์ (X2 = 145.96, p = 0.867, df = 166, X2/ df = 0.879, GFI = 0.96, AGFI = 0.96, RMSEA = 0.000)