Abstract:
การศึกษาเรื่อง "ความคิดเห็นของประชาชนและผู้ประกอบการต่อผลกระทบที่เกิดขึ้น จากการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่เมืองพัทยา" มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความคิดเห็นของประชาชนและผู้ประกอบการในพื้นที่เกี่ยวกับผลกระทบด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคมและด้านสิ่งแวดล้อมจากการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่เมืองพัทยา และเพื่อเปรียบเทียบ ความคิดเห็นของประชาชนและผู้ประกอบการในพื้นที่เกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ที่เกิดขึ้น จากการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่เมืองพัทยา เก็บรวบรวมข้อมูลจากประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เมืองพัทยา จำนวน 394 คน และผู้ประกอบการในเมืองพัทยา จำนวน 332 คน โดยใช้วิธีสุ่มตัวอย่างแบบมีระบบ (Systematic Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือแบบสอบถามที่มีค่าความเที่ยง (Reliability) เท่ากับ 0.847 และวิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนา (Descriptive statistics) ได้แก่ ความถี่ (Frequency) ค่าร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard deviation) ผลการศึกษาพบว่า (1) ผลกระทบต่อประชาชน พบว่า ด้านเศรษฐกิจ ประชาชนมีความคิดเห็นว่าการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่เมืองพัทยา ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคือ มีพ่อค้าแม่ค้าขาจร/ นอกพื้นที่ เข้ามาค้าขายในพื้นที่มากขึ้น ด้านสังคม มีการสนับสนุนขนบธรรมเนียม วัฒนธรรม ประเพณีและเอกลักษณ์ของชุมชนท้องถิ่นจากการจัดกิจกรรมมากขึ้น และด้านสิ่งแวดล้อม ทำให้ดูแลความสะอาดบริเวณพื้นที่หน้าบ้านของตนเองมากขึ้น (2) ผลกระทบต่อผู้ประกอบการ พบว่า ด้านเศรษฐกิจผู้ประกอบการมีความคิดเห็นว่า การจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่เมืองพัทยา ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคือ มีพ่อค้า แม่ค้าขาจร/ นอกพื้นที่เข้ามาค้าขายในพื้นที่มากขึ้น ด้านสังคมทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างคน พื้นที่กับนักท่องเที่ยว เช่น เสียงที่ดังรบกวนหรือการใช้ชีวิตประจำวันที่เปลี่ยนไปทำให้ผู้พักอาศัย ในพื้นที่ไม่พอใจและด้านสิ่งแวดล้อม ทำให้ดูแลความสะอาดบริเวณพื้นที่หน้าบ้านของตนเองมากขึ้น (3) ผลการเปรียบเทียบความคิดเห็นของประชาชนและผู้ประกอบการในพื้นที่เกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจพบว่า มีความสอดคล้องกัน คือ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านการมีพ่อค้า แม่ค้าขาจร/ นอกพื้นที่เข้ามาค้าขายในพื้นที่มากขึ้น ด้านสังคม ประชาชนมีความคิดเห็นว่า ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคือ มีการสนับสนุนขนบธรรมเนียม วัฒนธรรม ประเพณีและเอกลักษณ์ของชุมชนท้องถิ่นจากการจัดกิจกรรมมากขึ้น ในขณะที่ผู้ประกอบการมีความคิดเห็นว่า ทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างคนพื้นที่กับนักท่องเที่ยว เช่น เสียงที่ดังรบกวนหรือการใช้ชีวิตประจำวันที่เปลี่ยนไป ทำให้ผู้พักอาศัยในพื้นที่ไม่พอใจและด้านสิ่งแวดล้อม พบว่า ประชาชนและผู้ประกอบการมีความคิดเห็นสอดคล้องกันคือ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านการดูแลความสะอาดบริเวณพื้นที่หน้าบ้านของตนเองมากขึ้น