Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนาหมวกแสงสีฟ้าสำหรับกระตุ้นการตื่นตัวของผู้มีอาการง่วงนอน 2) ศึกษาผลชองระยะเวลาได้รับแสงสีฟ้าต่อการตื่นตัวร่วมกับคลื่นไฟฟ้าสมอง และ 3) วิเคราะห์สมการระหว่างระยะเวลารับแสงสีฟ้ากับคลื่นไฟฟ้าสมองกลุ่มตัวอย่างเป็นนิสิตระดับปริญญาตรี มหาวิทยาลัยบูรพาปีการศึกษา 2562 จำนวน 80 คน เครื่องมือที่ใช้วิจัยประกอบด้วย มาตรวัดระดับความง่วง Karolinska Sleepiness Scale (KSS) และเครื่องบันทึกคลื่นไฟฟ้าสมอง Muse วิเคราะห์สถิติด้วยการวิเคราะห์ความแปรปรวนสองทาง ผลการวิจัยปรากฏว่า การพัฒนาหมวกแสงสีฟ้าสำหรับกระตุ้นการตื่นตัวต้องใช้หลอดแอลอีดี แสงสีฟ้า ขนาด 5 มิลลิเมตร ความยาวคลื่น 470 นาโนเมตร จำนวน 8 หลอด ติดตั้งหลอดแอลอีดี บริเวณด้านหน้าของหมวกโดยมีระยะห่างจากสายตา 5 เซนติเมตร ให้ความสว่างแสง 40 ลักซ์ อุปกรณ์มีแหล่งจ่ายไฟใช้แบตเตอรี่ 9 โวลต์ ผลด้านพฤติกรรมปรากฏว่า กลุ่มที่ได้รับแสงสีฟ้าระยะเวลาต่างกันจะมีการตื่นตัวที่แตกต่างกัน (ประเมินจาก KSS) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ผลด้านคลื่นไฟฟ้าสมองพบความแตกต่างความหนาแน่นสเปกตรัมกำลัง (PSD) ของคลื่นไฟฟ้าสมองในกลุ่มที่ได้รับแสงสีฟ้า ระยะเวลาต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยผลเหล่านี้พบได้ในคลื่นแอลฟ่าและคลื่นเบต้าที่ตำแหน่งขั้วบันทึก AF7 และ AF8 และอัตราส่วนคลื่นเบต้าต่อคลื่นแอลฟ่าที่ตำแหน่งขั้วบันทึก AF7 การวิเคราะห์สมการระหว่างระยะเวลารับแสงสีฟ้ากับคลื่นไฟฟ้าสมองปรากฏว่า Y = -0.005X2 + 0.023X+ 0.176 (R 2 = 0.825) เป็นสมการที่มีเส้นโค้งเหมาะสมที่สุดซึ่งได้มาจากคลื่นเบต้าที่ตำแหน่งขั้วบันทึก AF7