Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนาการคัดเลือกแบบแข่งขันของขั้นตอนวิธี ทางพันธุกรรม สำหรับพยากรณ์โดยใช้โครงข่ายประสาทเทียม 2) เปรียบเทียบความแม่นยำของ ตัวแบบพยากรณ์โดยใช้โครงข่ายประสาทเทียมที่ใช้การคัดเลือกแบบแข่งขันที่พัฒนาขึ้นกับที่ใช้ การคัดเลือกแบบเดิม จากข้อมูล 5 สถานการณ์ และ 3) พยากรณ์ปริมาณน้ำฝนในภาคกลางของประเทศไทยโดยใช้ตัวแบบพยากรณ์ที่ใช้โครงข่ายประสาทเทียมที่มีการคัดเลือกแบบแข่งขัน ที่พัฒนาขึ้นของขั้นตอนวิธีทางพันธุกรรม ข้อมูลที่ใช้เป็นข้อมูลทุติยภูมิจาก NCEP–NOAA ตั้งแต่ 1 มกราคม พ.ศ. 2503 ถึง 31 มกราคม พ.ศ. 2561 แบบรายฤดูกาล สร้างตัวแบบพยากรณ์โดยใช้โปรแกรม Matlab ผลการวิจัยปรากฏว่า 1) ได้หลักการคัดเลือกแบบแข่งขันของขั้นตอนวิธีทางพันธุกรรม ที่พัฒนาขึ้น ประกอบด้วย 2 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นตอนการหาค่าความน่าจะเป็นที่แท้จริง (จากหลักการ Normalized Geometric Ranking ร่วมกับหลักการคัดเลือกแบบวงล้อรูเล็ต) และขั้นตอน การคัดเลือกแบบแข่งขัน 2) ได้ตัวแบบพยากรณ์ใหม่ 4 ตัวแบบ ที่มีความแม่นยำมากกว่าตัวแบบเดิมของ Asadi และตัวแบบเดิมของ Wang และ 3) ผลการพยากรณ์ปริมาณน้ำฝนในภาคกลางของประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2562-2566 แบบรายฤดูกาล มีค่าสัมประสิทธิ์ตัวกำหนดมากกว่า 0.7 แสดงว่าการพยากรณ์มีความแม่นยำสูง ดังนั้นตัวแบบนี้สามารถนำไปใช้พยากรณ์ปริมาณน้ำฝนใน ภาคกลางของประเทศไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ