Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อสร้างและตรวจสอบความเที่ยงตรงของโมเดลการวัดหิริ-โอตตัปปะและทัศนคติต่อการคอรัปชั่นในกลุ่มนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 2) เพื่อวิเคราะห์แบบแผนความสัมพันธ์คาโนนิคอลระหว่างตัวแปรหิริ-โอตตัปปะและทัศนคติต่อการคอรัปชั่น 3) เพื่อตรวจสอบอิทธิพลของหิริ-โอตตัปปะและทัศนคติต่อการคอรัปชั่น 4) เพื่อวิเคราะห์แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของหิริ-โอตตัปปะและทัศนคติต่อการคอรัปชั่นในกลุ่ม นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 ที่ศึกษาในโรงเรียนเครือข่ายสหวิทยาระยองเขต 1 และเขต 2 จำนวน 1,109 คน โดยใช้วิธีการสุ่มแบบหลายขั้นตอน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้เป็นแบบสอบถามที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นเกี่ยวกับหิริ-โอตตัปปะและทัศนคติต่อการคอรัปชั่น ผู้วิจัยได้ทำการรวบรวมข้อมูลแล้วนำมาวิเคราะห์หาค่าสถิติพื้นฐาน ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ทดสอบความสอดคล้องภายในและตรวจสอบความตรงเชิงโครงสร้างของแบบสอบถามด้วยวิธีการวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงสำรวจและองค์ประกอบเชิงยืนยัน จากนั้นวิเคราะห์สหสัมพันธ์คาโนนิคอลและอิทธิพลเชิงสาเหตุโดยการวิเคราะห์โมเดล สมการโครงสร้างและทดสอบความแตกต่างคะแนนเฉลี่ยด้านหิริ-โอตตัปปะและทัศนคติต่อการคอรัปชั่น เมื่อจำแนกตามระดับชั้น ผลการวิจัยพบว่า 1. โมเดลการวัดหิริ-โอตตัปปะ (X2 /df = 1.327, AGFI=0.987, RMSEA =0.017) และโมเดลการวัดทัศนคติต่อการคอรัปชั่น (X2 /df =1.973, AGFI=0.952, RMSEA =0.030 ) มีความสอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์มีพิสัยของค่าน้ำหนักองค์ประกอบของหิริ-โอตตัปปะอยู่ระหว่าง 0.724-1.000 และองค์ประกอบของทัศนคติต่อการคอรัปชั่นอยู่ระหว่าง 0.401-1.000 และมีพิสัยของค่าความแปรปรวนร่วมของตัวแปรด้านหิริ-โอตตัปปะอยู่ระหว่าง 0.524-1.000 และด้านทัศนคติต่อการคอรัปชั่นอยู่ระหว่าง 0.260-1.000 2. สหสัมพันธ์คาโนนิคอลระหว่างชุดตัวแปรหิริ-โอตตัปปะและชุดตัวแปรทัศนคติต่อการคอรัปชั่น มีค่าเท่ากับ 0.389 ที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ .01 มีความแปรปรวนร่วมกัน ร้อยละ 0.149 (14.90%) ซึ่งค่าสหสัมพันธ์ในแต่ละชุดตัวแปรเป็นผลมาจากตัวแปรโอตตัปปะ (Rc= 0.863) และแนวโน้มในการแสดงพฤติกรรม (Rc=-0.942) มากที่สุด 3.โมเดลความสัมพันธ์เชิงสาเหตุมีความสอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์เป็นอย่างดี (X2 /df =0.372, AGFI=0.998, RMSEA =0.000) ซึ่งตัวแปรด้านหิริ-โอตตัปปะมีอิทธิพลลบ ทางตรงต่อตัวแปรด้านทัศนคติต่อการคอรัปชั่น โดยมีค่าขนาดอิทธิพลเท่ากับ 0.655 (y = -0.655) สามารถอธิบายความแปรปรวนของตัวแปรด้านทัศนคติต่อการคอรัปชั่น ได้ร้อยละ 42.90 4. แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของหิริ-โอตตัปปะในแต่ละระดับชั้น พบว่า มีความแตกต่างกันอย่างมีระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ .05 ( = 0.979, Multivariate F-statistics=2.369, p-value= 0.009) และเมื่อเปรียบเทียบค่าเฉลี่ย พบว่า ด้านหิริไม่แตกต่างกัน แต่ด้านโอตตัปปะแตกต่างกัน อย่างมีระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ .05 และแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของทัศนคติต่อการคอรัปชั่น พบว่า นักเรียนในแต่ละระดับชั้นมีความรู้ ความรู้สึกและแนวโน้มในการแสดงพฤติกรรมแตกต่างกันอย่างมีระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ .05 ( = 0.868,F-statistics=10.665, p-value= 0.000) และเมื่อเปรียบเทียบค่าเฉลี่ย พบความแตกต่างทั้งด้านความรู้ความรู้สึกและแนวโน้มในการแสดงพฤติกรรมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ .05