Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ 1. เพื่อศึกษาระดับความสุขของประชาชนในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกและ 2. เพื่อศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อความสุขของประชาชนในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ประชากรที่ใช้ในการศึกษา คือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกใน 3 จังหวัด คือ จังหวัดฉะเชิงเทรา จังหวัดชลบุรีและจังหวัดระยอง จำนวน 273 แห่ง เก็บรวบรวมข้อมูลจากข้อมูลทุติยภูมิ (Secondary Data) ของกรมพัฒนาชุมชน จากเว็บไซต์ http://ebmn.cdd.go.th และเว็บไซต์ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละแห่งวิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ ค่าความถี่ (Frequency) ค่าร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) ค่าความโด่ง (kurtosis) และค่าความเบ้ (skewness) และการวิเคราะห์การถดถอยเชิงพหุคูณทดสอบสมมติฐานการวิจัย ด้วยวิธี Enter ผลการวิจัยพบว่า ระดับความสุขเฉลี่ยของประชาชนในเขตพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก มีค่าเฉลี่ย 8.30 คะแนนจากคะแนนเต็ม 10 ตัวแปรอิสระทั้ง 19 ตัวร่วมกันอธิบายความผันแปรของความสุขของประชาชนในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกได้ร้อยละ16.20 และปัจจัยที่ส่งผลต่อความสุขของประชาชนในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก คือ รายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปีรายจ่ายเฉลี่ยต่อคนต่อปีร้อยละคนอายุ 60 ปีขึ้นไป มีอาชีพและรายได้และการกำหนดวิสัยทัศน์ขององค์กร ปกครองส่วนท้องถิ่น อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05