Abstract:
การวิจัยเชิงพัฒนาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้ด้วยรูปแบบ CIPPA และการเรียนรู้แบบร่วมมือ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 2) ศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่เรียนโดย CIPPA และการเรียนรู้แบบร่วมมือ 3) ศึกษาความสามารถในการคิดวิเคราะห์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่เรียนโดย CIPPA และการเรียนรู้แบบร่วมมือ 4) ศึกษาความสามารถในการคิดแก้ปัญหาของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่เรียนโดย CIPPA และการเรียนรู้แบบร่วมมือ และ 5) ศึกษาเจตคติของนักเรียน ชั้นมัธยมศึกษา ปีที่ 3 ต่อการเรียนโดย CIPPA และการเรียนรู้แบบร่วมมือ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนมัธยมวัดศรีจันทร์ประดิษฐ์ ในพระบรมราชานุเคราะห์ ที่กำลังศึกษาอยู่ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2562 จำนวน 1 ห้องเรียน ได้มาโดยการสุ่มตัวอย่างแบบกลุ่ม (Cluster random sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย 1) แผนการจัดการเรียนรู้ 2) แบบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน 3) แบบวัดความสามารถในการคิดวิเคราะห์ 4) แบบวัดความสามารถในการคิดแก้ปัญหา และ 5) แบบวัดเจตคติ ของนักเรียนที่เรียนด้วย CIPPA และการเรียนรู้แบบร่วมมือ สถิติ ที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบค่าที และการทดสอบค่าอำนาจจำแนกรายข้อ ผลการวิจัย พบว่า 1. การพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้แบบ CIPPA และการเรียนรู้แบบร่วมมือ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีความเหมาะสมมาก 2. นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่เรียนโดย CIPPA และการเรียนรู้แบบร่วมมือ มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียน (Posttest) สูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดคือ ร้อยละ 70 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 3. นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่เรียนโดย CIPPA และการเรียนรู้แบบร่วมมือ มีความสามารถในการคิดวิเคราะห์หลังเรียน (Posttest) สูงกว่าเกณฑ์ก่อนเรียน (Pretest) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 4. นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่เรียนโดย CIPPA และการเรียนรู้แบบร่วมมือ มีความสามารถในการคิดแก้ปัญหาหลังเรียน (Posttest) สูงกว่าเกณฑ์ก่อนเรียน (Pretest) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 5. นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่เรียนโดย CIPPA และการเรียนรู้แบบร่วมมือ มีเจตคติต่อการเรียน โดยศึกษาจากข้อคำถามรายข้อ พบว่า ฉันสามารถนำความรู้ไปใช้ในวิถีชีวิตได้ มีค่าเฉลี่ยสูงสุด รองลงมา คือ ฉันดีใจที่ได้ทำงานร่วมกับเพื่อน และฉันจะนำขั้นตอนต่าง ๆ ที่ได้เรียนรู้ไปใช้ในวิถีชีวิตแน่นอน มีค่าเฉลี่ยรองลงมาตามลำดับ