Abstract:
ปากแม่น้ำบางปะกงเป็นบริเวณที่มีการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งจำนวนมาก อันเป็นผลให้เป็นแหล่งรวมของของเสียต่าง ๆ ทั้งทางกายภาพ เคมีและชีวภาพ โดยเฉพาะเชื่อโรคที่ปนเปื้อนน้ำบริเวณนี้อันอาจมีผลกระทบต่อระบบห่วงโซ่อาหารและระบบนิเวศน์วิทยาของบริเวณปากแม่น้ำ ดังนั้นการวิจัยครั้งนี้ จึงมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลกระทบของปัจจัยสิ่งแวดล้อมทางกายภาพต่อการรอดชีวิตของฟีคัลโคลิฟอร์มและฟีคัลสเตรปโตคอคไค เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานในการพิจารณาเลือกใช้จุลินทรีย์บ่งชี้นี้เหมาะสมในการกำหนดคุณภาพน้ำบริเวณปากแม่น้ำ
การดำเนินการวิจัยมีทั้งภาคสนามและในห้องปฏิบัติการ ในภาคสนามประกอบด้วยการเก็บตัวอย่างน้ำในระยะต่าง ๆ จากปากแม่น้ำ คือ บริเวณปากแม่น้ำ และบริเวณที่ห่างจากปากแม่น้ำในระยะ 2.5, 5, 8 และ 12 กิโลเมตร และที่ระดับความลึก 3 ระดับ คือ ระดับต่ำกว่าผิวน้ำ 30 เซนติเมตร ระดับกึ่งกลางแม่น้ำ และระดับเหนือท้องน้ำ 50 เซนติเมตร ในช่วงเวลา 3 ฤดู คือ ฤดูร้อน ฤดูฝน และฤดูหนาว หลังจากนั้นมีการทดลองทางห้องปฏิบัติการโดยการใช้ระบบจำลอง microcosm
ผลการศึกษาพบว่า อุณหภูมิ, ความนำไฟฟ้า, ความเค็มและของแข็งละลายน้ำทั้งหมดมีความสัมพันธ์ในเชิงบวกกับฟีคัลสเตรปโตคอคไค แต่มีความสัมพันธ์ในเชิงลบกับฟีคัลโคลิฟอร์ม จากการทดลองในห้องปฏิบัติการพบว่า แสงแดดและความเค็มเป็นปัจจัยสิ่งแวดล้อมทางกายภาพที่มีผลต่อการรอดชีวิตของฟีคัลโคลิฟอร์มและฟีคัลสเตรปโตคอคไค และพบว่า ที่ความเค็มที่ 1, 10, 20 และ 30 ส่วนในพันส่วน ฟีคัลสเตรปโตคอคไคมีการรอดชีวิตได้ดีกว่าฟีคัลโคลิฟอร์ม