Abstract:
การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงคุณภาพโดยใช้รูปแบบการวิจัยเชิงอนาคตด้วยเทคนิคเดลฟายและใช้การวิจัยเชิงปริมาณอธิบายประกอบ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิเคราะห์ สังเคราะห์และพัฒนาระบบสุขภาพอำเภอชายแดนไทย-ลาวที่เหมาะสมและเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ ดำเนินการระหว่างมกราคม พ.ศ. 2558-พฤษภาคม พ.ศ. 2561 โดยการทบทวนและวิเคราะห์เอกสารงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง การศึกษาภาคสนาม เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสนทนากลุ่มแบบการสืบค้นเสริมพลังกับผู้ให้ข้อมูลสำคัญ (Key informants) ที่เป็นผู้นำภาคีเครือข่ายที่มีส่วนสำคัญในการพัฒนาระบบสุขภาพอำเภอชายแดนไทย-ลาว จำนวน 6 อำเภอ ๆ ละ 10 คน รวม 60 คน และสอบถามความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญ 5 สาขา จำนวน 17 คน ด้วยเทคนิคเดลฟาย 3 รอบ วิเคราะห์ข้อมูล โดยการวิเคราะห์เนื้อหา (Content analysis) และใช้สถิติบรรยาย (ค่าร้อยละ ค่าฐานนิยม และค่าพิสัยระหว่างควอไทล์) ผลการวิจัยพบว่า ระบบสุขภาพอำเภอชายแดนไทย-ลาว มีการประยุกต์การดำเนินการตามนโยบายที่มีรูปแบบ UCCARE 6 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ 1) การทำงานร่วมกันในระดับอำเภอ (Unity of district health team: U) 2) การมุ่งผลลัพธ์ที่เกิดกับผู้บริโภค (Customer focus: C) 3) การมีส่วนร่วมของชุมชนและภาคีเครือข่าย (Community participation: C) 4) การทำงานจนเกิดคุณค่า (Appreciative inqurity: A) 5) การจัดสรรทรัพยากร (Resource sharing: R) และ 6) การให้บริการสุขภาพที่จำเป็น (Essential health care: E) แต่เนื่องจากอำเภอชายแดนไทย-ลาว มีควาแตกต่างจากพื้นที่ทั่วไปทั้งภูมิประเทศ สังคมวัฒนธรรม และบริบทด้านอื่น ๆ อีกหลายประการ ดังนั้น จึงพบว่า ระบบสุขภาพอำเภอชายแดนไทย-ลาว ที่พึงประสงค์ในการจัดการสุขภาพสำหรับประชาชนประกอบด้วย 10 องค์ประกอบหลัก 28 องค์ประกอบรอง และ 75 ประเด็นสำคัญที่ผู้เชี่ยวชาญมีความคิดเห็นสอดคล้องกัน (Consensus) ว่ามีความเหมาะสม ร้อยละ 80 มีความเป็นไปได้ในระดับมาก (ค่าฐานนิยมระดับ 4) ขึ้นไป และพิสัยระหว่างควอไทล์ (Inter-quartile range) ที่ไม่เกิน 1.00 จึงมีความเหมาะสมและมีความเป็นไปได้ในการนำไปสู่การปฏิบัติจริง โดยเพิ่มจากรูปแบบเดิม 4 องค์ประกอบหลัก คือ หัวหน้าทีม (Captaincy: C) การสื่อสาร (Communication: C) ความมุ่งมั่น (Commitment: C) และวัฒนธรรม (Culture: C) = CCCC:4C ซึ่งระบบสุขภาพอำเภอชายแดนไทย-ลาว ที่พึงประสงค์ หรือ DHS@Thai-Laos’border: 4C+U+CARE+C สามารถสรุปได้ดังนี้ บริบทสำคัญ (Crucial context) ที่มีผลต่อประสิทธิผลของระบบสุขภาพอำเภอชายแดนไทย-ลาว เป็นการทำงานเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ โดยมีองค์ประกอบที่สนับสนุนระบบ ประกอบด้วย การทำหน้าที่ของหัวหน้าทีม (Captiancy: C) การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพระหว่างภาคีเครือข่ายทั้งในและนอกระบบ (Communication: C) ความมุ่งมั่นในข้อตกลงร่วมกันของภาคีเครือข่าย (Commitment: C) และวัฒนธรรมความสัมพันธ์แบบเครือข่าย (Culture: C) และมีองค์ประกอบเชิงระบบ ประกอบด้วย ปัจจัยนำเข้า (Input) ได้แก่ การทำงานร่วมกันของทีมอำเภอ (Unity of district health team: U) กระบวนการ (Process) ได้แก่ การมีส่วนร่วมของชุมชนและเครือข่าย (Community participation: C) การจัดสรรทรัพยากร (Resource sharing: R) การทำงานจนเกิดคุณค่า (Appreciative inquiry: A) และการให้บริการสุขภาพที่จำเป็น (Essential health care: E) ผลสัมฤทธิ์ (Result) ได้แก่ การมุ่งผลลัพธ์ที่เกิดกับผู้บริโภค (Customer focus: C) ที่เป็นกลไกการขับเคลื่อนและผู้รับประโยชน์จากระบบสุขภาพ จึงเป็นทั้งผลผลิต (Output) และผลลัพธ์ (Outcome) อันส่งผลกระทบ (Impact) ให้เกิดสังคมสุขภาวะที่ดีและยั่งยืนต่อไป ข้อเสนอแนะสำหรับหน่วยงานสาธารณสุขระดับนโยบาย ควรสนับสนุนให้นำแนวคิด 4C+U+CARE+C ไปปรับใช้ในการพัฒนาระบบสุขภาพอำเภอตามบริบทของพื้นที่ชายแดน และในพื้นที่อำเภอปกติ เพื่อเป็นการพัฒนารูปแบบที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และเป็นการยกระดับระบบสุขภาพอำเภอต่อไป