Abstract:
การวิจัยแบบผสานวิธีครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ปริมาณ และปัจจัยทำนายปริมาณแบคทีเรียในอากาศภายในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล รวมทั้งศึกษารูปแบบการจัดการสิ่งแวดล้อมในการลดปริมาณแบคทีเรีย ตัวอย่างที่ใช้ในการวิเคราะห์ คือ ปริมาณแบคทีเรียในอากาศภายในห้องตรวจรักษา จำนวน 540 ตัวอย่าง หน่วยของการสุ่มตัวอย่าง คือ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ซึ่งสุ่มตัวอย่างแบบยกกลุ่มได้ 7 อำเภอ จำนวน 30 โรงพยาบาล เก็บตัวอย่างแบคทีเรียในอากาศ แอนเดอร์เซน อิมแพคเตอร์ ชนิดชั้นเดียว สำหรับแบบตรวจรายการและสัมภาษณ์ กลุ่มตัวอย่าง คือ ห้องตรวจรักษา และเจ้าหน้าที่ที่เป็นตัวแทนผู้รับผิดชอบด้านสุขาภิบาลและสิ่งแวดล้อมเป็นกลุ่มตัวอย่างเดียวกันกับการศึกษาปริมาณแบคทีเรีย จำนวน 30 แห่ง ๆ ละ 1 คน รวม 30 คน และการยืนยันแนวทางโดยผู้เชี่ยวชาญด้วยเทคนิคเดลฟาย วิเคราะห์ข้อมูลโดยการแจกแจงความถี่ ร้อยละ มัธยฐาน พิสัยควอไทล์ และการวิเคราะห์ถดถอยพหุคูณแบบขั้นตอน ผลการวิจัยพบว่า ค่าเฉลี่ยปริมาณแบคทีเรียภายในอาการเท่ากับ 583.19 โคโลนีต่อลูกบาศก์เมตร (SD = 304.36) ซึ่งสูงกว่าค่าแนะนำของกรมอนามัย (<500 โคโลนีต่อลูกบาศก์เมตร) เมื่อจำแนกตามช่วงเวลาขณะให้บริการ (828.83+-385.01 โคโลนีต่อลูกบาศก์เมตร) และช่วงเวลาก่อนให้บริการ (409.61+-122.20 โคโลนีต่อลูกบาศก์เมตร) ตามลำดับ สำหรับปริมาณแบคทีเรียในอากาศภายนอกอาคาร ค่าเฉลี่ยเท่ากับ 36.31+-23.03 โคโลนีต่อลูกบาศก์เมตร โดยพบปัจจัยทำนาย คือ จำนวนคน การแพร่กระจายของแบคทีเรียในอากาศ กิจกรรมที่ทำให้เกิดแบคทีเรียในอากาศ สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเกิดแบคทีเรีย และความเร็วลม สามารถร่วมกันทำนายได้ ร้อยละ 54.3 รูปแบบการจัดการสิ่งแวดล้อมในการลดปริมาณแบคทีเรียในอากาศภายในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล มี 6 แนวทาง คือ การกระจายคนเข้าห้องตรวจ การระบายอากาศ การลดปริมาณแบคทีเรียบนเครื่องปรับอากาศ พัดลม โต๊ะ เก้าอี้เฟอร์นิเจอร์และตู้เอกสาร และการจัดการมูลฝอยทั่วไป ดังนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรนำแนวทางดังกล่าวไปใช้กำหนดโครงการหรือกิจกรรมในการลดปริมาณแบคทีเรียภายในโรงพบาบาลเพื่อคุณภาพชีวิตและความปลอดภัยของผู้เกี่ยวข้องต่อไป และนำผลการวิจยนี้ไปไประยุกต์ใช้หรือนำไปสร้างโปรแกรมใช้งาน (Application) และติดตามประเมินผลโรงพยาบาลอย่างสม่ำเสมออันนำไปสู่การพัฒนาโรงพยาบาลแต่ละแห่งได้อย่างต่อเนื่อง และนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป